POLITICS

ชี้ชะตา “ปารีณา” ลุ้นศาลฎีกาพิพากษา คดี “รุกป่าสงวนราชบุรี” ส่งทนายฟังคำพิพากษา

วันนี้ (7 เม.ย. 65) ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นส.ส. กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเละให้นางสาวปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งเเต่วันที่ 25 มีนาคม 2565 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ โดยมีนายทิวา การกะสัง ทนายความ เป็นตัวแทนเดินทางมาฟังคำพิพากษา

ก่อนหน้านี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล โฆษก ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชนถึงมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลนางสาวปารีณาในคดีนี้ไว้ว่า สิ่งที่นางสาวปารีณากระทำ มีเจตนาต้องการหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เป็นการปิดโอกาสหรือหวงกั้นมิให้บุคคลอื่นเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน มุ่งแสวงหาประโยชน์จากที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจตนหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ยึดถือระเบียบหลักเกณฑ์กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย การกระทำของนางสาวปารีณา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2562 ข้อ 11 และข้อ 17

กรณีของนางสาวปารีณา ถือเป็นกรณีแรกที่ถูกชี้มูลความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2562 ข้อ 11 และข้อ 17

Related Posts

Send this to a friend