สภาทนายความฯ จัดตั้ง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ตอบรับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
วันนี้ (7 มี.ค.66) ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการ และคณะ ร่วมแถลงข่าว การจัดตั้ง ‘ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ ทั่วประเทศ หลังมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ดร.วิเชียร กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2564) จากการทรมานและการกระทำให้สูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการเพิ่มประสิทธิในการบังคับใช้กฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ประจำสภาทนายความจังหวัดต่าง ๆ ในภาค 1-9” โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.รับแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากประชาชนในเหตุการณ์ทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
2.ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำใน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
3.ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
4.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.เสนอความเห็นต่อสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
6.กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายของสภาทนายความ
7.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ความป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเสนอสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
8.หน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ
ทั้งนี้การจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของดังกล่าว มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดร.วิเชียร กล่าวว่า สภาทนายความมีเครือข่ายทั่วประเทศ ครอบคลุมเขตอำนาจศาลจังหวัดทั่วประเทศ 112 แห่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการช่วยเหลือประชาชน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ซึ่งมีความพร้อมที่จะทำงานในทันที และพร้อมเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในการจับกุมพนักงานสอบสวน ทั้งนี้แม้จะมีบางมาตราที่ถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไป แต่ทางสภาทนายความก็พร้อมที่จะให้ความข่วยเหลือกับประชาชนทุกรูปแบบ
นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์และการปฏิบัติทางกฎหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านนายวีรศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 กล่าวทิ้งท้ายว่า กฎหมายฉบับนี้มีความพิเศษที่ประชาชนอาจยังไม่ทราบ คือ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ยกเว้นให้สิทธิ์กับคนในเครื่องแบบ แม้ทหารกระทำความผิดโดยไม่มีพลเรือน ก็ต้องขึ้นศาลพลเรือน เพราะสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้