POLITICS

ป.ป.ช. จี้ กรมอุทยานฯ เร่งนำระบบ E-Ticket ใช้จัดเก็บรายได้เข้าอุทยานฯ

ป.ป.ช. จี้ กรมอุทยานฯ เร่งนำระบบ E-Ticket ใช้จัดเก็บรายได้เข้าอุทยานฯ ชี้ ไม่จำเป็นต้องรอ ให้ทยอยทำ หากอุทยานฯ ไหนพร้อม ให้ทำได้ทันที ยอมรับ พื้นที่ 7 จังหวัดใต้ มีโครงการทิ้งร้างเยอะ อาจเสียหายเป็นหมื่นล้าน

วันนี้ (7 ก.พ. 68) ที่โรงแรมเรือรัษฎา จ.ตรัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สรุปการลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจงานปราบปรามการทุจริต ภารกิจงานป้องกันการทุจริต ตามโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. โดยมีนายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า การลงพื้นที่ จ.ตรัง ครั้งนี้ ทำตามมาตรา 32 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นการมาติดตามเรื่องการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติ

อีกทั้ง เรามาทำงานเชิงรุก เป็นเรื่องการป้องกัน ไม่ได้มาจับผิดใคร เพราะรายได้จากการเข้าอุทยานฯ เป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งมีรายได้จากการเก็บค่าเข้าอุทยานฯ หลายพันล้านบาท แต่มีการตกหล่นไปมาก และเป็นรายได้ที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศ และอุทยานฯ ฉะนั้นหลังจากนี้เราต้องไปหามาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการตกหล่น รวมถึงเชิญผู้ประกอบการมาหารือว่าจะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างไรบ้าง และตนเห็นว่า การนำระบบ E-Ticket มาใช้ในการเก็บค่าเข้าอุทยานฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ต้องรอครบ 133 แห่งก่อนค่อยทำ แต่อุทยานฯ แห่งไหนมีความพร้อมสามารถทำได้เลย จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องรอในภาพรวมทั้งหมด

นายศรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของ จ.ตรัง ซึ่งมีโครงการที่ถูกทิ้งร้าง และเสียหาย 2 พันล้านบาท แต่ยังเป็นแค่ส่วนน้อย แต่ถ้าใน 7 จังหวัดของภาค 9 โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่ามีงบฯ ในลักษณะนี้ลงไปในพื้นที่มาก และมีอาคารถูกทิ้งร้างจำนวนมาก ซึ่งมีงบฯ ลงไปแต่สร้างไม่เสร็จ และส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ฉะนั้นในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการใหญ่ๆ ของรัฐต้องวัตถุประสงค์ในแต่ละโครงการชัดเจน เช่น กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้เป็นอย่างไรบ้าง และโอกาสจะเปลี่ยนสภาพในเชิงธุรกิจมีมากหรือไม่

ซึ่งสิ่งที่ ป.ป.ช.ทำได้คือ พยายามป้องปราม ให้ใช้งบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่เอาไปแล้ว มีตกหล่น โดยโครงการลักษณะนี้มีการร้องเข้ามา เราจึงพยายามสกัดกั้น เพราะอยากให้คดีทุจริตลดลง รวมถึงงบต่างๆ ที่ลงมาปลายปีก็ยากที่จะให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ ไม่ใช่งบอะไรก็ใส่ลงมาได้ จนเป็นที่มาของการทิ้งร้าง ซึ่งใน 7 จังหวัด ภาค 9 อาจจะเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท

ด้านนายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ภาค 8 กล่าวว่า เรื่องการติดตามการจัดเก็บรายได้ของอุทยานฯ ไม่ได้ทำเฉพาะอุทยานทางทะเลฝั่งอันดามัน แต่รวมถึงทะเลฝั่งอ่าวไทยด้วย และอยากจะขยายผลไปยังพื้นที่ภาค 2 จังหวัดฝั่งตะวันออก ซึ่งเดิมพื้นที่แถบนั้นเราเคยเข้าไปแล้ว แต่ไปเพราะมีการร้องเรียน ซึ่งยังมีจุดหละหลวมอยู่ ดังนั้น เห็นว่า ควรต้องเร่งนำระบบ E-Ticket มาใช้ อย่างน้อยทำให้การเก็บรายได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงมากที่สุดหรือเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า โครงการในลักษณะหอศิลป์ตรัง เป็นการนำงบจังหวัดมาสร้าง และมอบให้ท้องถิ่นดำเนินการต่อ แต่บางทีท้องถิ่นไม่มีศักยภาพทำให้สร้างไม่เสร็จ จากจุดเริ่มต้น 39 ล้านบาทตอนเริ่มโครงการ แต่ตอนนี้เป็นร้อยล้าน และกรณีในลักษณะที่ว่าสร้าง และให้คนอื่นทำต่อ ไม่ได้ใช้งบฯ ก้อนเดียวจบแบบนี้ ซึ่ง ป.ป.ช.จังหวัดกังวล และห่วงมาก และยังมีประเด็นอีกว่าหากสร้างเสร็จแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ บริหารจัดการอย่างไร รวมถึงเอางบมาจากไหน และถ้าดำเนินการไม่ได้ จะนำมาสู่การทิ้งร้าง โดย ป.ป.ช.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง

Related Posts

Send this to a friend