วราวุธ หารือ ญี่ปุ่น สร้างความร่วมมือจัดการขยะทะเล

วานนี้ (6 ม.ค. 66) เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบ นายโอโน ฮิโรชิ Vice-Minister for Global Environment Affairs กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น หารือถึงความร่วมมือกลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) และประเด็นความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
ได้แก่ ความร่วมมือด้านการจัดการขยะทะเล โดยเฉพาะการจัดตั้ง Monitoring Centre การแก้ไขปัญหา PM2.5 ภายใต้โครงการ Thailand – Japan Clean Air Partnership (JTCAP) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประเทศไทยมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก
นายวราวุธ ได้กล่าวกับผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการอบรมด้านการบริหารจัดการสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง
และประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น พร้อมที่จะสนับสนุนการจัดการประชุม the 2nd ASEAN – Japan Ministerial Dialogue on Environmental Cooperation และ ASEAN – Japan Environment Week ที่จะจัดคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน สมัยที่ 17 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความร่วมมือร่วมกันมากกว่า 50 โครงการ ซึ่งจะยังคงความร่วมมือกันต่อไป และจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น อาทิ พลังงานไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป โดยการจัดทำความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในการพัฒนากลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism) ฉบับใหม่ ได้มีการหารือในระดับเจ้าหน้าที่ซึ่งจะได้ข้อสรุปในการประชุม JC High level Dialogue ที่จะมีขึ้นในปี 2566 นี้
วันเดียวกันนี้ นายวราวุธยังคคณะผู้แทนไทย เข้าหารือกับ นายเคอิจิโร นากาซาวะ รองประธานอาวุโสองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) และคณะ ถึงความร่วมมือในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มลพิษทางเสียง หมอกควันข้ามแดนในระดับทวิภาคี และการจัดการขยะทะเลในระดับภูมิภาค ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีความร่วมมือร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ JICA ได้กล่าวชื่นชมโมเดลธุรกิจ BCG ของไทย ที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ low carbon society ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ด้าน นายวราวุธ ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
รวมทั้งการเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ภายในประเทศ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และ การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้เร็วขึ้น โดยที่การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับความร่วมมือในทุกระดับ