‘ชลน่าน’ มอง ‘พล.อ.ประวิตร’ ยังเป็นแคนดิเดตดีนายกฯ กว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’
‘ชลน่าน’ มองสังคมไทยเรียนรู้ผ่าน 6 ตุลามามาก แต่มีวงจรอุบาทว์ฉุดรั้งประชาธิปไตย ตอบไทยจะเข้า ICC หรือไม่ ต้องถกรอบคอบ เชื่อ 3 ป. ขิงกันลงพื้นที่ มอง ‘ประวิตร’ ยังเป็นแคนดิเดตดีกว่า ‘ประยุทธ์’
วันนี้ (6 ต.ค. 65) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมงาน 46 ปี 6 ตุลา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์เดือนตุลาว่า ในด้านลบคือ มีความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ภาพของการแขวนคอและเข่นฆ่าก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ในด้านบวกคือ ข้อเท็จจริงหลายเรื่องถูกเปิดเผยออกมา เข้าไปสัมผัสจับต้องได้ จนทำให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นมา มีการจัดงานอย่างต่อเนื่อง และคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม
“ภาพลบของ 6 ตุลาคือ แม้จะมีการเรียนรู้มามาก แต่ความเป็นประชาธิปไตยกลับย่ำแย่ลงไป โดยกลไกที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ของผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจทางกระบอกปืนเข้ามายึดแย่งจากประชาชนไป คราวนี้เป็นผลพวงจาก 8 ปีที่ผ่านมา แม้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ทำเป็นพิธีกรรมให้ตนเองเข้าสู่อำนาจ ใช้กลไกวินิจฉัยของศาลเพื่ออยู่ต่อและสืบทอดอำนาจ นี่เป็นภาพลบต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประเทศมาก”
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า 6 ต.ค. 19 จะเป็นร่องรอยของการต่อสู้ ที่จะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยขึ้นมาอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากรวมตัวกันผ่านช่องทางสื่อและการรวมตัว ยังมีการเลือกตั้งด้วย หากประชาชนออกมาล้นหลามและเลือกพรรคการเมืองที่เชื่อถือได้ ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยใหม่ทันที
สำหรับกรณีการเข้าสู่อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) นพ.ชลน่าน ตอบว่า เป็นไปได้ในฐานะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเคารพสิทธิเสรีภาพ และปกป้องการกระทำที่ไม่เหมาะสม ก็น่าพิจารณาว่าเราขัดข้องเรื่องใดหรือไม่ เพราะเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพเพื่อมวลมนุษยชาติ ตรงนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้บอกว่าจะเข้าหรือไม่เข้าอย่างไร มันต้องเป็นกลไกที่เข้าสู่กระบวนการที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมของ 3 ป. นพ.ชลน่าน ตอบว่า มองในภาพบวก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ผู้บริหารต้องเข้าถึงและสัมผัสปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง ส่วนมองในอีกมุม ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ว่า “ขิง” กันหรือไม่ แล้วแต่จะตีความ เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีที่แท้จริงกลับมาแล้ว อย่าใช้ภาษีประชาชนมาแสวงหาอำนาจ เว้นแต่ว่าการสร้างสถานะว่าเป็นคนทำงานและเข้าใจปัญหาอันนี้ก็ถือว่าชอบ เพราะพี่น้องเห็นภาพชัดเจน อย่ามองเพียงแต่ความเห็นต่างขัดแย้ง ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ก็จงทำ เพื่อบอกประชาชนว่าฉันพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“ให้ประชาชนวินิจฉัยว่าขิงกันหรือไม่ แต่ภาพมันชัด คนไม่มีแรงกลับมีใจบันดาลแรงขึ้นมา คนที่เคยอยู่ในขวดซีอิ๊ว กระโดดขึ้นมาใส่กางเกงยีนส์เป็นแหนมป้ายย่น ภาพมันชัด”
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า นอกจากพรรคการเมืองจะแย่งชิงความนิยมจากประชาชนแล้ว ประเด็นสำคัญคือ ความต่างขั้วระหว่างเสรีนิยม กับอนุรักษ์นิยมหรือเผด็จการ ใครอยู่อนุรักษ์นิยมหรือเผด็จการ หรือพลเอก ประยุทธ์ ก็ยากจะได้รับการเลือกตั้ง ส่วนใครจะเป็นแคนดิเดตก็อยู่บนพื้นฐานการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรค หากจะเลือก พลเอก ประยุทธ์ ที่อยู่ได้แค่ 2 ปี ก็เหมือนดูถูกประชาชน จึงต้องระมัดระวัง พรรคเขาคงจะเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้พรรคเขารอด
“พลเอก ประยุทธ์ ไม่น่าใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด พลเอก ประวิตร ก็เป็นตัวเลือกได้ อย่างน้อยก็ดีกว่า พลเอก ประยุทธ์” นพ.ชลน่าน กล่าว