POLITICS

กทม. ผนึก กสศ. ลุยค้นหาเด็ก นร.ยากจนด้อยโอกาสในเมืองหลวง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมงานครั้งแรกกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุม Teleconference ร่วมกับครูโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เป็นครั้งแรก เตรียมเก็บข้อมูล 50 เขตจากโรงเรียนในสังกัด กทม. ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ครั้งที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำนำไปสู่การแก้ปัญหาในทุกมิติ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นปีแรกของการทำงานเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาสอย่างเป็นระบบ ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา ผ่านการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

“ในการทำงานต้องอาศัยความร่วมมือของคุณครูสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน ช่วยลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนที่มีความเสี่ยงเป็นรายคน โดยเฉพาะกับครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาส ที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า และมีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 12% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 3 เท่า”

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สำหรับการศึกษาภาคบังคับ แต่ในความเป็นจริง ด้วยช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขยายกว้างและปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับรุนแรง จึงยังคงเป็นอุปสรรคทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ด้วยข้อจำกัดที่หลากหลาย เช่น ผู้ปกครองไม่มีค่าครองชีพเพียงพอ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา ค่าเดินทางไปโรงเรียน โดยเฉพาะเมื่อต้องข้ามช่วงชั้น ที่โรงเรียนอยู่ห่างไปหลายกิโลเมตร หรือแม้กระทั่งทัศนคติของครอบครัวต่อการศึกษา ที่เลือกให้เด็ก ๆ ออกมาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงชั้นรอยต่อ ( ป. 6 และ ม. 3) การหลุดจากระบบการศึกษา ส่งผลให้ตกอยู่ในวงจรความเสี่ยงและกับดักความยากจนข้ามรุ่น

นายศานนท์ กล่าวว่า ด้วยภาระงานในโรงเรียนที่มีอยู่จำนวนมาก กรุงเทพมหานครคำนึงเป็นอย่างยิ่งว่าจะปล่อยให้คุณครู กทม. ทำงานแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกัน “It takes a village to raise a child” การสร้างเด็กคนหนึ่งต้องอาศัย คนทั้งหมู่บ้าน ทั้งชุมชน ดังนั้น สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยกันพัฒนาให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานเขต โรงเรียน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกับคุณครูเพื่อช่วยค้นหา ชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ยากลำบากทั้งในและนอกระบบให้ได้โดยเร็ว การได้เห็นข้อมูลปัญหาเป็นรายคนจะช่วยให้สามารถออกแบบมาตรการการแก้ไขปัญหาได้

“ฐานข้อมูลที่จะได้มาจากปฏิบัติการร่วมกับ กสศ. ครั้งนี้ คือรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสการเข้าถึงการศึกษาร่วมกับ กสศ. เพื่อส่งต่อข้อมูลเป็นรายคนไปยังหน่วยจัดการศึกษาทุกสังกัด และ กสศ. จะช่วยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษเพื่อบรรเทาอุปสรรคการมาเรียนให้แก่เด็ก ๆ นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงทุกด้าน สุขภาพกาย จิตใจ สังคม ที่อาจนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษา และการป้องกันหลุดจากระบบซ้ำ และเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” นายศานนท์ กล่าว

ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การดำเนินงาน โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอ) ครั้งที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 ร่วมกับผู้บริหารเขตการศึกษา 50 เขต คุณครูและผู้บริหารสถานศึกษา 437 แห่ง ของ กทม. นอกจากจะเป็นการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจนแล้ว ยังเป็นการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ กทม. พัฒนาให้เกิดมาตรการป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาว

“ข้อมูลของเด็กเหล่านี้ ที่จะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลเป็นรายครอบครัว เป็นรายบุคคลของเด็ก จะถูกส่งคืนไปให้ กทม. เพื่อส่งต่อให้สำนักต่าง ๆ สามารถมาบูรณาการการใช้ข้อมูล ไปพัฒนาชุมชน พัฒนาโรงเรียน สามารถสนับสนุนให้ กทม. ได้มีมาตรการเชิงนโยบาย รวมถึงเป็นนโยบายระดับชาติได้ด้วย และยังใช้ติดตาม ส่งต่อ ให้เด็กได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าในอนาคต”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ด้วยข้อมูลเดียวกันนี้จะนำไปสู่โอกาสการเข้าถึงทุนอื่น ๆ ของ กสศ. เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมี ทุนเสมอภาค, ทุนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ,ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ,ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และข้อมูลจะเชื่อมกับระบบ TCASS เพื่อส่งต่อโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงกองทุนของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับ กสศ. เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. และกองทุนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

“เด็กเยาวชนที่ได้รับการคัดกรองความยากจน และได้รับทุนเสมอภาคภายใต้โครงการนี้ เมื่อจบ ม. 3 ในโรงเรียนสังกัด กทม. แล้ว จะมีโอกาสเข้าสู่การรับทุนการศึกษาระดับสูงต่อไป ตั้งแต่ทุนที่เรียนจบไปเป็นครู ทุนการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. หรือทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก กสศ. มีทุนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทุนแบบให้เปล่าไม่มีการต้องใช้คืน และเป็นทุนที่ตั้งใจขยายโอกาสให้กับเด็กยากจนโดยเฉพาะ”
นอกเหนือจากทุนการศึกษาของเด็กในระบบแล้ว
การลงพื้นที่ในครั้งนี้จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่อยู่ใน กทม. ด้วย โดยคุณครูผู้ลงพื้นที่อาจมีโอกาสได้พบเด็กที่เพิ่งย้ายตามผู้ปกครองเข้ามา และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งถ้าเจอก็สามารถส่งต่อให้เข้าสู่การดูแลของโรงเรียน กทม. กว่า 437 โรงเรียนได้ ในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ที่ กสศ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานทั้ง 11 หน่วยงาน ที่ดำเนินการอยู่ จะช่วยให้จำนวนเด็ก เยาวชน นอกระบบการศึกษาในความดูแลของ กทม. มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ส่วนเด็กที่หลุดออกไปแล้ว หรือว่ารอที่จะกลับเข้ามา จะมีการติดตามให้กลับเข้ามาได้ด้วยเช่นกัน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า การดูแลของ กสศ. จะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยจะพยายามเชื่อมโยงข้อมูลไปให้ถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ต่อเนื่อง สำหรับกรุงเทพฯ เมื่อได้ข้อมูลรายบุคคลของโรงเรียนในสังกัด กทม. มาแล้ว จะมีการส่งข้อมูลให้กับคุณครูโดยเข้าถึงได้จากแอปพลิเคชันเพื่อให้มีการเยี่ยมบ้านหรือติดตามได้ต่อเนื่อง ซึ่งทุนการศึกษาที่น้อง ๆ จะได้ มีตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง ม. 3 โดยจะมีการคัดกรองทุก ๆ 3 ปี

“เมื่อได้ทุนในช่วงอนุบาล 1 แล้ว จะมีการคัดกรองในช่วง ป. 1 ป. 4 และ ม. 1 เพราะ กสศ. เชื่อว่าสถานะความยากจนอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็ว และเมื่อมีการคัดกรองจะทำให้สามารถส่งต่อการดูแลช่วงรอยต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทุนทางการศึกษาอื่นๆต่อไปได้ในอนาคต”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของ กสศ. จะกำหนดเป้าหมายเป็นบันได 6 ขั้น คือ บันไดขั้นที่ 1 นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าสู่ระบบการศึกษา (หาตัวเจอ พากลับโรงเรียนเร็วที่สุด) บันไดขั้นที่ 2 เข้าสู่คัดกรองความยากจน บันไดขั้นที่ 3 ให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข บันไดขั้นที่ 4 ติดตามผลการมาเรียน/การเจริญเติบโต/ผลการเรียนตลอดในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน บันไดขั้นที่ 5 ส่งต่อระบบดูแลช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สุขภาพ,พฤติกรรม,การเรียน) บันไดขั้นที่ 6 ได้รับโอกาสทางเลือก /ทุนนวัตกรรมสายอาชีพ /ทุนเติมเต็มศักยภาพ /กยศ. /ทุนอื่น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเอกชน
“สำหรับกรุงเทพ ซึ่งเป็นปีแรกในการทำงานร่วมกันจะเน้นเป้าหมายในบันไดขั้นที่ 1 – 4 เป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และให้เห็นความเชื่อมโยงว่าโครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการเพียงเพื่อการจ่ายเงิน แต่เป็นโครงการที่จะสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้เด็ก กทม. ได้ในระยะยาว”


ดร.ไกรยส ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า กสศ. ยังได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : Information System for Equitable Education หรือ iSEE ขึ้นเพื่อรองรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 6 กระทรวง และข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ที่สามารถระบุเป้าหมายของเด็กที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบการศึกษาทั่วประเทศได้อย่างแม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีฐานข้อมูลจาก กทม. แต่จากนี้ไปก็จะมีข้อมูลของ กทม.อยู่ในนั้นด้วย จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จากระบบนี้ และอาจขยายรวมไปถึงการได้รับทุนสนับสนุนด้านการศึกษาจากภาคเอกชนในภาคีเครือข่ายของ กสศ. ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจาก iSEE ในการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาในพื้นที่ที่เอกชนเหล่านี้ดำเนินงานอยู่

สุดท้าย เมื่อมีการคัดกรองแล้ว มีการจัดสรรทุนไปให้กับเด็กแล้ว ทาง กสศ. จะมีการติดตามอัตราการมาเรียนของเด็ก น้ำหนัก ส่วนสูง และในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องของผลการเรียน หรือว่าข้อมูลอื่น ๆ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่า เด็กเยาวชนเหล่านี้ยังอยู่ในโรงเรียน และไม่มีความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา

“อัตราการมาเรียนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 หากมีอัตราลดลง ไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดทุนเด็ก แต่จะมีการเตือนไปที่โรงเรียน เตือนไปที่ช่องทางต่าง ๆ เช่น สำนักการศึกษา หรือไปที่เขต ว่ามีเด็กเยาวชนที่อัตราการมาเรียนต่ำกว่าร้อยละ 80 แล้ว มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากทุนการศึกษาเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดการเฝ้าระวังหรือแนะนำว่า ถ้ามีการติดตามช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็อาจจะสามารถคุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้” ดร. ไกรยส กล่าว

Related Posts

Send this to a friend