อ.ปริญญา มองเลือกตั้ง อบจ.ปทุมฯ สะท้อนคะแนนนิยม ‘ทักษิณ‘
เพื่อไทยทวงคืนเก้าอี้ แต่ไม่การันตีชนะครั้งหน้า ชี้ช่องปมคุณสมบัติ ’ชาญ’ ร้องศาลขอปฏิบัติหน้าที่ต่อได้
วันนี้ (6 ก.ค.67) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายชาญ พวงเพ็ชร์ ชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จังหวัดปทุมธานี ซึ่งสะท้อนคะแนนนิยมของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อผู้นำพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ช่วยก็ชนะห่างกัน 1,000 กว่าคะแนน หลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทยและเสียพื้นที่ให้กับพรรคก้าวไกล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงต้องชนะให้ได้ เพราะนายชาญเคยเป็นนายก อบจ.มาหลายสมัยและแพ้ ในสมัยที่ผ่านมา
ในทางกลับกันต้องวิเคราะห์ด้วยว่าทำไม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง หรือบิ๊กแจ๊ส ถึงแพ้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเลือก อบจ.ปทุมธานีก่อนเวลา และจัดเลือกตั้งในช่วงปิดเทอม ทั้งที่จังหวัดปทุมธานีมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่ง นักศึกษาที่มีการย้ายทะเบียนบ้านเข้าหอพักไม่สามารถมาเลือกตั้งได้ ทั้งยังไม่มีระบบการเลือกตั้งล่วงหน้า จึงเรียกร้องถึง กกต.ว่าต้องมีการแก้กฎหมายท้องถิ่น เปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นการการันตีว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะหรือไม่ชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าเพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้ลงสมัคร แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการกลับมาของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดปทุมธานี เพื่อหวังจะมีโอกาสชนะพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า สำคัญคือจะมีการประกาศรับรองนายชาญ เมื่อไรแล้วจะปฎิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ต่อให้ชนะแต่ปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ไปไม่ได้ตลอดในสิ่งที่ตั้งใจไว้
ทั้งนี้คนที่จะประกาศให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเรื่องของอีกพรรคหนึ่งคือภูมิใจไทย สำหรับการเดินเกมของบ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยต้องทำความเข้าใจว่านายชาญคุณสมบัติครบถ้วน พรรคเพื่อไทยพูดถูกไม่ได้ขาดคุณสมบัติแม้แต่ข้อเดียว เพราะศาลยังไม่พิพากษา แต่การที่ชนะเลือกตั้งและปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ กฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2565 เพราะในปีนั้นมีผู้สมัครถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วมาชนะเลือกตั้งในวาระใหม่ กระทรวงมหาดไทยจึงถามกฤษฎีกาว่ามีผลถึงวาระใหม่หรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกาตอบมาว่ามีผล เพราะเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ต้องการให้มายุ่งเหยิงในพยานหลักฐานในตำแหน่งหน้าที่ จึงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะยกฟ้อง
เรื่องนี้มีความเห็นจากกฤษฎีกาชัดเจน แต่ตอนสมัคร กกต.ได้แจ้งนายชาญหรือไม่ว่าคุณสมบัติไม่ขาด แต่จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ พรรคเพื่อไทยไม่ผิด ตรวจสอบคุณสมบัติถูกแต่กฤษฎีกามีแนวทางมาแล้ว พรรคเพื่อไทยทราบหรือไม่ ถ้าทราบแล้วยังทำถือว่าพลาด ถ้าไม่ทราบก็ถือว่าพลาดเช่นกันที่ไม่ได้ตรวจสอบ
ผศ.ดร.ปริญญา เชื่อว่าเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยคงไม่ทำให้ตนเองเสี่ยงในเรื่องที่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัย หากจะจบต้องไปจบที่ศาล เพราะมาตรา 81 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.เมื่อศาลรับคำร้องแล้วต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ นายชาสามารถไปร้องศาลได้ และปฎิบัติหน้าที่ต่อ “เป็นอย่างที่พรรคเพื่อไทยว่าต้องจบที่ศาล”