POLITICS

6 แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.โชว์วิสัยทัศน์เพื่อผู้หญิง เด็ก และคนตัวเล็ก

วันนี้ (6 เม.ย.65) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดยสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “เสนอไป-แถลงมา นโยบายทางสังคมของผู้ว่าฯ กทม.” ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ ถ.พญาไท

โดยมีตัวแทนจากภาคีเครือข่ายกล่าวถึงข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ เริ่มจาก เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวว่า คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้หญิง คือต้นทุนทางสังคมที่ผู้หญิงมีสิทธิที่จะได้รับ จึงขอเสนอให้ กทม.ตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพสตรี 100 ล้านต่อปีขึ้นไป เพิ่มสัดส่วนผู้หญิง และผู้พิการในคณะกรรมการทุกชุด ส่งเสริมให้โรงพยาบาลสังกัด กทม.จัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยภายใน 12 สัปดาห์ กระจายงาน และสนุนงบประมาณให้กับองค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และจัดทำนโยบายและงบประมาณที่ผสมผสานมิติหญิง-ชาย

ขณะที่นโยบายผู้สูงอายุ ต้องจัดตั้งกองทุนคุ้มครองส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มเบี้ยยังชีพบำนาญประชาชน 3,000 บาท และให้นายจ้างรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง เปิดเผยว่า ปี 2561-2564 มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำรุนแรงมากกว่า 6,960 ราย และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ในปี 2565 จึงขอเสนอให้ กทม.นำแผนยุทธศาสตร์ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง พัฒนาคณะกรรมการชุมชนให้ทำงานเชิงรุก ขจัดความรุนแรงทางเพศ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทุกคน และให้สหวิชาชีพเข้ามาดูแลผู้หญิงพิการที่ถูกกระทำรุนแรง

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ กล่าวถึงปัญหาแรงงานใน กทม.ว่า มีแรงงานนอกระบบกว่า 1 ล้านคน ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปต้องทำให้ กทม.เป็นเมืองแห่งโอกาส ขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ ส่งเสริมการมีงานทำ จัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำ และพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย ตัวแทนเครือข่ายผู้พิการ กล่าวว่า กลุ่มผู้พิการต้องการสร้างสรรค์ กทม.ให้เป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจ เสริมพลังผู้อาศัยใน กทม.ทุกคน ดังนั้น กทม.จึงต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ปรับปรุงทางม้าลายให้ปลอดภัยกับสตรีพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ จัดให้มีข้อมูลข่าวสารการเดินทางในรูปแบบอักษรเบล เสียง และแสง ระบบร้องทุกข์สำหรับคนพิการ การอำนวยความสะดวกกับผู้พิการของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และจัดระบบเรียนร่วมให้กับผู้พิการ

ผศ.ดร.ฉัตรวรัญช์ องคสิงห ผู้แทนกลุ่มเด็กเล็ก เสนอว่า กทม.ควรเป็นมหานครในการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ กทม.ต้องดูแลเด็กเรื่องอาหารเช้า และโอนทรัพย์สินสถานดูแลเด็กเล็กให้อยู่ในความดูแลของ กทม.

จากนั้นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แถลงนโยบายทางสังคม นำโดย สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 กล่าวว่า ความต้องการของหลายคนอาจจะไม่เหมือนกัน หากมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะเข้าไปดูเรื่องเงินอุดหนุนบุตร 600 บาท และบำนาญประชาชน 3,000 บาท พร้อมสำรวจหาผู้ตกหล่น ส่วนการจ้างงานผู้พิการอาจต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจ้างงานอย่างน้อย 1% แต่ความจริงไม่มีหน่วยงานใดจ้างงานผู้พิการเลย แต่เมื่อครั้งที่ตนเองเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สามารถผลักดันให้เกิดการจ้างงาน 300 ตำแหน่ง ทั้งยังจะพัฒนาศูนย์ผู้สูงอายุให้ใช้ระบบเทเลเมดิซีน และจ้างงานผู้สูงอายุให้สามารถทำกิจกรรมง่าย ๆ ในชุมชนด้วย

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 7 กล่าวว่า เราตั้งใจจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน กทม. ตามแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะให้ความสนใจกับการเดินทางของทุกคนให้ปลอดภัย ติดตั้งกล้อง CCTV ทั้งทางบกและทางน้ำ กระจายงบประมาณให้การบริหารงานท้องถิ่น “50 ล้านบาท 50 เขต” เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน พร้อมสนับสนุนกลุ่มหาบเร่แผงลอย “สะอาด-ถูก” เพื่อคนจนเมือง และมนุษย์เงินเดือน ทั้งยังจะผลักดันเงินสนับสนุนเด็กเล็ก และนโยบายบำนาญ 3,000 บาทให้แก่ผู้สูงอายุ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 6 หยิบยกผลงานตลอดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 5 ปี 5 เดือน 5 วัน มานำเสนอ อาทิ ระบบเทเลเมดิซีนส่งยารักษาโรคภายใน 60 นาที ข้าวกลางวัน 40 บาท เงินซ่อมแซมบ้านสำหรับผู้ประสบอุทกภัย และวาตภัย 30,000 บาท กองทุนสนับสนุนอาชีพ 50 ล้านบาท มอบให้ประชาชนใน 50 เขต เขตละ 200 คน พร้อมกล่าวว่า จะสนับสนุนความเท่าเทียมของชายหญิง และให้คนรุ่นใหม่กับผู้พิการมาร่วมในคณะทำงานด้วย

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กทม.ตกอยู่ภายใต้มายาคติที่ไม่เป็นธรรม ปล่อยให้คนจนเมืองดิ้นรนในภาวะที่ไม่เป็นธรรม สู้แล้วรวยมีน้อยมากเพียง 1 ในล้าน นโยบายเราจึงต้องการให้ “เมืองคนเท่ากัน” เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุ 1,000 บาท สวัสดิการเด็กแรกเกิด 0- 6 ปี 1,200 บาท เพิ่มเบี้ยผู้พิการ 1,200 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่การสงเคราะห์แต่เป็นสิ่งที่พึงได้รับ พร้อมเสนอให้ยก กทม.เป็นเมืองต้นแบบ เพิ่มสวัสดิการอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะบำนาญประชาชน 3,000 บาทที่ต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศ

“เมืองที่คนเท่ากันจะเป็นบันไดขั้นแรกของเมืองที่ทุกคนต้องการ”

นายวิโรจน์ มองว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.อ้างกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด และปัดความรับผิดชอบไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นต้องส่งปัญหานี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหานี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการจัดสรรงบประมาณที่มักไปปรนเปรอนายทุนเครือข่ายอุปถัมภ์ แก้ปัญหาได้ด้วยจัดสรรงบประมาณที่หล่อเลี้ยงส่วนกลางเข้าไปในชุมชนขนาดเล็ก เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย มีแนวคิดว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้หญิงเปรียบเหมือนนางพญาในรังผึ้งที่ต้องดูแลลูลูกให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ สำหนับนโยบายที่ต้องการผลักดันคือ ทำให้โรงเรียนสังกัด กทม.ทัดเทียมกับโรงเรียนเอกชนในทุกด้าน

น.ต.ศิธา กล่าวว่า ผู้พิการกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากแบ่งงบประมาณของ กทม.มาไม่เกิน 10% ลดความสะดวกสบายของคนปกติ สร้างสิ่งก่อสร้างที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ ผู้ว่าฯ กทม.จึงควรจะปลดปล่อยผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างสามารถใช้ชีวิตได้

พรรคไทยสร้างไทยถือเป็นพรรคแรกที่นำเสนอนโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาท ให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ ทั้งนี้หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ยังจะมีนโยบายเพื่อคนตัวเล็กหาบเร่แผงลอย ผลักดันให้เทศกิจทุกเขตสนับสนุนให้ประชาชนทำมาหากินได้

“ผมมีนโยบาย 3P People-สร้างคน Profit-สร้างงาน Planet-สร้างเมือง เมืองไม่สามารถสร้างได้ด้วยฮีโร่ แต่มีคนที่ทำงานเพื่อสังคม (NGO) เป็นผู้สร้างเมือง ผมจึงจะนำแนวคิดของคนกลุ่มนี้มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมาย”

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่แท้จริง ทำให้คนยืนได้ เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก พัฒนาเมืองให้ทันสมัย ทุกคนต้องได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี

นายสุชัชวีร์ ประกาศว่า ตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่อุดหนุนเด็ก 0-6 ปี จำนวน 2.8 แสนคน อย่างเสมอภาค เท่าเทียมและถ้วนหน้า เพิ่มค่าอาหารกลางวันของเด็กวัยเรียนเป็น 40 บาทต่อวัน สนับสนุนการตั้งสภาผู้สูงอายุ เพื่อบริหารงบประมาณให้ตรงกับความต้องการ สายด่วนสุขภาพจิต และตรวจเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุขทุกสัปดาห์

พร้อมทิ้งท้ายด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 “ขาดทุน คือ กำไร” มาใช้ในการทำงาน เพราะมองว่า กำไรที่แท้จริงคือการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข

Related Posts

Send this to a friend