ป.ป.ช. ลงพื้นที่ติดตามการเก็บค่าบริการอุทยานแห่งชาติฯ หวังป้องปราม การจัดเก็บรั่วไหล – ทุจริต
ป.ป.ช. ลงพื้นที่ติดตามการเก็บค่าบริการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เกาะกระดาน – ถ้ำมรกต จ.ตรัง หวังป้องปราม การจัดเก็บรั่วไหล – ทุจริต ด้าน เจ้าหน้าที่ ยอมรับ รับแต่เงินสด ส่งผลให้การดำเนินการลำบาก ขณะที่ เลขาฯ ป.ป.ช. ปลื้ม หน่วยงานให้ความสำคัญ ป้องทุจริตจัดเก็บรายได้นักท่องเที่ยว ส่วน รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เตรียมชงแก้ระเบียบให้ทันสมัย จ่อใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาด เริ่มปี 69
วันนี้ (5 ก.พ. 68) นายสาโรจน์ พึงรําพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พื้นที่ถ้ำมรกต และเกาะกระดาน อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อติดตามความคืบหน้าเก็บการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจุดแรกที่ไปดูการจัดเก็บรายได้ หน้าถ้ำมรกต เจ้าหน้าที่ใช้เรือเป็นด่านลอยจัดเก็บค่าเข้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ พบว่าเป็นการขายบัตร และจัดเก็บเงินสด โดยไม่มีการจัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-ticket และยังไม่สามารถชำระเงินผ่านการสแกน QR Code ได้เนื่องจากไม่มีระเบียบรองรับ
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ ยอมรับว่า หากมีระบบ E-Ticket หรือระบบสแกน QR code ชำระเงินจะสะดวก และเกิดความปลอดภัยในการจัดเก็บเงินค่าเข้า เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวไม่นิยมพกเงินสด ซึ่งขณะนี้มีการจัดเก็บ โดยถือกล่องพลาสติกสำหรับใส่เงินสด สามารถจัดเก็บรายได้วันละ 50,000 บาท แบ่งเป็น ราคานักท่องเที่ยวคนไทย จัดเก็บอยู่ที่ 40 บาท แต่เด็กจัดเก็บ 20 บาท และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเด็ก เก็บ 100 บาท ส่วนผู้ใหญ่จัดเก็บค่าเข้าอยู่ที่ 200 บาท
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ ยืนยันว่า ไม่มีอุปสรรคในการจัดเก็บ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีการศึกษารายละเอียดมาก่อนหน้านี้แล้ว ยกเว้นกรณีมีคลื่นลม สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย จะเป็นปัญหาเพราะเป็นการจัดเก็บบนพื้นน้ำทะเล
ด้าน นายสาโรจน์ มองว่า การจัดเก็บแบบใช้ QR Code กรมอุทยานฯ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงแต่ต้องใช้ระบบวิธีบริหารจัดการ ซึ่ง ป.ป.ช.เคยเสนอมาตรการไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้เสนอไปยังหน่วยงานให้ดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.เสนอ เพียงแต่ยังติดอุปสรรคในเรื่องเทคโนโลยี และงบประมาณ โดยขณะนี้หน่วยงานกำลังดำเนินการ ซึ่งการใช้ QR Code ในการเก็บรายได้ทำให้สะดวก ทั้งต่อนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องมานั่งนับเงิน และเก็บสด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีระบบการตรวจสอบการจัดเก็บเงินในแต่ละจุดแบบภาคเอกชนที่มีหน่วยงานจะเป็นไปได้หรือไม่ นายสาโรจน์ ระบุว่า กรณีนี้มี สตง.ดำเนินการสุ่มตรวจอยู่แล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.จะประสานให้สุ่มตรวจเป็นประจำทุกปีต่อไป
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีนักท่องเที่ยวไม่มีเงินสด สามารถโอนจ่ายผ่านเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่ชำระเป็นเงินสดแทนได้หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ ยอมรับว่า หากมีความจำเป็นก็สามารถดำเนินการได้ แต่จะมีปัญหาเนื่องจากเคยมีกรณีร้องเรียน และมีการตรวจสอบ อาจส่งผลปัญหาเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
จากนั้น ป.ป.ช. ลงพื้นที่ติดตามการจัดเก็บรายได้ พื้นที่เกาะกระดาน โดยได้สอบถามวิธีการจัดเก็บกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณซุ้มจัดเก็บรายได้ พบว่า การจัดเก็บมีลักษณะเช่นเดียวกัน มีการขายบัตร ใช้กล่องพลาสติกสำหรับเก็บเงินรายได้ โดยเจ้าหน้าที่ ยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้กับบัตรค่าเข้าชมก็จะนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะสัมพันธ์กับรายได้ที่จัดเก็บ แต่ยอมรับว่า มีเรือนำเที่ยวที่ลักไก่ ไม่ผ่านจุดชำระเงิน ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะมากับกรุ๊ปทัวร์หรือที่พักรีสอร์ท โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตระเวรตรวจตรา หากพบไม่ชำระ ก็จะให้ชำระให้ถูกต้อง
นายปทุม พงศกรเฟื่องฟู หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานฯ หาดเจ้าไหมจะมีจุดจัดเก็บอยู่ 5 จุด คือ สำนักงานท่าเรือปากเมง เกาะกระดาน หน้าถ้ำมรกต และหาดหยงหลิง ส่วนเกาะกระดาน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จะมาเทียบเรือที่โป๊ะ และนักท่องเที่ยวจะเดินมาชำระค่าธรรมเนียมตรงบริเวณทางขึ้นอุทยาน
ทั้งนี้สามารถชำระที่สำนักงาน และท่าเรือปากเมง จากนั้นจะโชว์ค่าบัตรธรรมเนียมได้ที่เกาะกระดาน เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน ส่วนกรณีถ้ำมรกตที่มีเจ้าหน้าที่ล่องเรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่จะได้รับแจ้งค่าธรรมเนียมจากบริษัททัวร์ จากนั้นจะออกไปรอ และนับจำนวนนักท่องเที่ยวว่า ตรงกับจำนวนที่บริษัทจ่ายมาหรือไม่ พร้อมยอมรับว่า อาจจะมีพลาดบ้าง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ใช้เรือยางออกไปแค่ลำเดียว ถ้าเรือมาพร้อมกันหลายลำ บางครั้งการสื่อสารอาจมีอุปสรรค ประกอบกับสภาพอากาศคลื่นลม
แต่หากเจ้าหน้าที่มาช้า ก็จะไม่ทันนักท่องเที่ยวที่ออกเรือไปก่อนแล้ว ขณะเดียวกันก็พบกรณีเรือจากรีสอร์ท หากพบก็จะสามารถจัดเก็บได้ และมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าชำระค่าธรรมเนียมแล้วหรือไม่
ส่วนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ E-Ticket มีการดำเนินการไปในอุทยานแห่งชาติ 5 แห่งแล้ว แต่อุทยานฯ หาดเจ้าไหม ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมถึงหลังจากนี้จะใช้ระบบสแกนหรือโอนเข้าบัญชี ก็ขึ้นอยู่กับกรมอุทยานจะไปดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้ระเบียบก่อน ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร แต่ตอนนี้ยังคงรับเพียงเงินสดอย่างเดียว
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หาดเจ้าไหม แก้ปัญหาเรือที่จะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมด้วยการทำโป๊ะลอยน้ำ เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยได้มีการขออนุมัติงบแล้ว และจะดำเนินการได้ อยู่ระหว่างการจัดซื้อที่กรม และนำมาติดตั้งที่นี่ภายในปีนี้ โดยเรือก็จะมาเทียบที่โต๊ะจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้แล้วไปจอดเรือด้านนอก จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก และส่วนตัวก็เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนเป็นระบบ E-Ticket เพื่อความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ และบริษัททัวร์
ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ กล่าวว่า กรมอุทยานเป็นหน่วยงานราชการ ดังนั้นเรื่องการจัดเก็บรายได้มีระเบียบที่กรมกำหนดไว้ และออกแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและต้องการความชัดเจนถูกต้องมากขึ้น เพราะสังคมให้ความสนใจ จึงมองว่าควรต้องไปปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดการจัดเก็บเงิน และส่งเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนแนวทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเราทำสำเร็จ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินปี 69ในพื้นที่นำร่อง และในปี 70 จะครอบคลุม 133 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเงินทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบงบประมาณเลย ทำให้ปัญหาหมดไป