POLITICS

จับตา นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมกรรมการ EEC หลังเลื่อนเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก

วันนี้ (5 พ.ค. 65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม , พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมวันนี้อยู่ในช่วงเวลาที่ประเทศต้องเร่งรัดการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และเร่งฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งได้มีการเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ทำจะให้ประเทศโตไปพร้อมๆ กันทุกภาค กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค หารายได้เข้าประเทศมากขึ้น ทุกพื้นที่โตใกล้เคียงกัน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ กรณีที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เลื่อนลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) กับ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลจากผู้รับสัมปทานเดิม จนถูกฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตและขู่ร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ และยังเตรียมนำข้อมูลเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย

ก่อนหน้านี้ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามนโยบายให้เร็วที่สุด และเพื่อลดความคลาดแคลงใจของสาธารณะ ซึ่งกรมธนารักษ์มีความมั่นใจว่า ขั้นตอนการดำเนินการเปิดประมูลมีความโปร่งใส ส่วนโดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการทางเอกสาร ธุรการทั้งหมด รวมถึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบย้อนหลัง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ถึงปริมาณน้ำและการนำส่งรายได้เข้ารัฐ ว่า สอดคล้องหรือถูกต้องหรือไม่

นายประภาศ ยังกล่าวอีกว่า การเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงศ์สยาม ซึ่งเป็นเอกชนรายใหม่ที่ชนะการประมูล กรมฯ ต้องการจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหาย ที่จะมีเม็ดเงินเข้ารัฐ 1,500 ล้านบาท กรณีที่มีการเซ็นสัญญาในช่วงแรก พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพราะศาลไม่ได้สั่งคุ้มครอง อีสท์ วอเตอร์ จึงไม่มีเหตุที่กรมฯ จะต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินการ มิเช่นนั้น อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

Related Posts

Send this to a friend