POLITICS

‘ก้าวไกล’ เผย สูตรคิดคำนวณค่าแรง ปัจจุบันปิดโอกาสรายได้ ปชช.

‘ก้าวไกล’ ฝากถึง ‘เศรษฐา’ แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ชี้ ขึ้นค่าแรงต้องแก้ตั้งแต่ต้นตอ เผย สูตรคิดคำนวณค่าแรง ปัจจุบันปิดโอกาสรายได้แก่ ปชช. ลั่น หากต้องตัดเงินเดือน ผู้ที่สมควรถูกตัดมากที่สุด คือ คนที่มีส่วนร่วมออกแบบสูตรค่าจ้าง

วันนี้ (5 ม.ค. 67) นางสาววรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกล่าวถึงสวัสดิการแรงงานและวิกฤตของแรงงาน ในหัวข้อ “วิกฤตแรงงาน กับงบประมาณแบบเดิมๆ”

นางสาววรรณวิภา กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี 67 ที่รัฐบาลนำมาเสนอต่อสภาในวันนี้ จัดตั้งขึ้นมาเหมือนไม่มีพี่น้องแรงงานอยู่ในสถานะวิกฤต แบบที่รัฐบาลพูดว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายขยายโอกาสให้ประชาชน ทำให้ตั้งคำถามว่ารัฐบาลเพิ่มรายได้แบบไหนในเมื่อค่าแรงยังนิ่งอยู่ และลดรายจ่ายแบบไหน ในเมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนที่ใช้ส่วนใหญ่ ยังไม่มีแนวโน้มลดลง และขยายโอกาสแบบไหนในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้แต่กฎหมายขั้นต่ำยังบังคับใช้ไม่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อเปิดดูเล่มงบประมาณของกระทรวงแรงงาน พบว่ารัฐบาลในยุคนี้ยังตั้งงบประมาณไม่ต่างกับรัฐบาลชุดที่แล้ว “หากดูแต่งบคิดว่าเรายังไม่เปลี่ยนรัฐบาล” ซึ่งเหมือนเป็นการตั้งงบไว้ แต่ไม่ได้มาแก้วิกฤตเหมือนที่นายกรัฐมนตรีชอบพูด แม้จะเคยมีหลายเรื่องดังที่ตนเองเคยพูดไป และยังคงต้องพูดอยู่ พูดต่อ จนกว่าจะได้รับการแก้ไข ซึ่งเรื่องที่ตนเองได้พูดไปนั้นคือ ค่าแรงขั้นต่ำที่ตอนนี้โยนกันไปมา ระหว่างคณะกรรมการค่าจ้างกับนายกรัฐมนตรี

นางวรรณวิภา กล่าวต่อว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเพียงกระปริบกระปรอย ขยับไปไม่ถึงไหน จึงอยากฝากประธานรัฐสภาผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีว่าปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการกำหนดค่าแรงที่มีสูตรในการคิดคำนวณ ซึ่งการต่อรองกันระหว่างคณะกรรมการไตรภาคี ท่านคงไม่สามารถสั่งการเฉยๆ แบบที่ใจต้องการได้ แต่หากท่านมีจิตใจที่อยากขึ้นค่าแรงจริงๆ ท่านต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ

ปัญหาของค่าแรงขั้นต่ำของเรื่องนี้ คือสูตรในการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นสูตรที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน หรือที่เรียกกันว่าค่า แอล (L) ซึ่งตนเองของเรียกว่าเป็นค่าสูตรที่คิดออกมาแบบด้อยค่าแรงงาน ทำให้พี่น้องแรงงานถูกกดค่าแรงให้ต่ำมาตลอดเป็นระยะเวลานานถึง 7 ปี โดยการคิดให้น้อยกว่าความสามารถที่จะเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ทำได้จริงๆ แทนที่แรงงานจะได้ค่าแรงเต็มๆ จากความสามารถที่เพิ่มขึ้น กลับได้ค่าแรงจากที่กระทรวงแรงงานได้กดเอาไว้

นางวรรณวิภา กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานเสียโอกาสที่จะได้รับค่าแรงสูงขึ้น ยกตัวอย่าง กรณี กรุงเทพฯ หากใช้สูตรปัจจุบันและคิดเป็นธรรมตามปกติ กรุงเทพฯ จะได้ค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย วันละ 375 บาท ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาท หรือ 32% ตามสูตรปัจจุบัน เท่ากับเสียโอกาสไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ นางวรรณวิภา ย้ำว่า ต่อให้แรงงานทำงานมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่เจอสูตรหวงค่าแรงของกระทรวงแรงงานเข้าไป ก็ขึ้นค่าแรงได้เต็มที่เพียง 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ให้เข้าไปแก้ไขปัญหาและจัดการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด และหากท่านมีแผนตัดงบบุคลากรภาครัฐ ขอให้พิจารณาในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานด้วย

“คนที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือคนที่อยู่ในคณะกรรมการค่าจ้าง รวมไปถึงปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ด ที่มีส่วนร่วมปล่อยให้เกิดการคิดสูตรคำนวณที่ไม่เป็นธรรมต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกิน 7 ปี ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีโอกาสรายได้ที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ฉะนั้นหากจะต้องตัดเงินเดือน ผู้ที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือ คนที่มีส่วนร่วมออกแบบสูตรค่าจ้าง” นางวรรณวิภา กล่าว

Related Posts

Send this to a friend