POLITICS

‘ภูมิธรรม’ ย้ำรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจปมชายแดนไทย-กัมพูชา จ่อถก ‘เจบีซี’ 14 มิ.ย. ปัดข่าว ‘เตีย เซ็ยฮา’ ล็อบบี้

วันนี้ (4 มิ.ย. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงแถลงการณ์ของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาว่า เป็นการดำเนินการตาม 3 กลไกหลัก ซึ่งเป็นผลการหารือร่วมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองทัพบก (ทบ.) และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำประเด็นพิพาทไปสู่ศาลโลก โดยรัฐบาลยึดมั่นในอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และสิทธิตามกฎหมายของไทย ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อหารือและหาข้อยุติต่อไป

นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามจำกัดวงความขัดแย้งไม่ให้ขยายไปสู่ศาลโลก โดยจะหารือเฉพาะจุดปะทะและยึดบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ปี 2543 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นแนวทางที่ง่ายต่อการหาข้อสรุปร่วมกัน ปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ตั้งแต่ต้นสันปันน้ำถึงสามแยกลาว และจะไม่ดำเนินตามเกมของอีกฝ่ายที่อาจต้องการดึงนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้หารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และตัวนายภูมิธรรมเองก็ได้พูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเรื่องนี้แล้ว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่ารัฐบาลเตรียมการในทุกมิติไว้แล้ว ทั้งในแง่กฎหมาย การเจรจาตามกลไกต่างๆ และหากมีความจำเป็น กองทัพก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในแนวหน้า จึงไม่ต้องการให้มีการปลุกปั่นหรือตำหนิกัน โดยสังเกตเห็นว่าท่าทีของแกนนำฝ่ายค้านในเรื่องนี้เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่การแสดงความเห็นตามอารมณ์ เพราะประเด็นชายแดนมีความละเอียดอ่อนและอาจสร้างความเสียหายได้หากเกิดข้อผิดพลาด รัฐบาลต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชนเช่นเดียวกับที่รัฐบาลกัมพูชาได้รับ และอยากให้ทุกฝ่ายเสนอแนวทางแก้ไขปัญหามากกว่าการตำหนิ สำหรับเรื่องการปิดด่านนั้นมีกระบวนการและขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว และไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเจรจา

นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสว่าประชาชนไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลว่า เป้าหมายหลักคือการลดความขัดแย้งและไม่ยกระดับปัญหาไปสู่เวทีโลก แม้จะดูเหมือนใจเย็นแต่ได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว และยืนยันว่ามีความเข้าใจอันดีกับกองทัพ โดยได้หารือกับพลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นการนำเรื่องสู่ศาลโลกนั้น รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า มติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 และหนังสือแจ้งเวียนเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในการทำสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ให้ระบุข้อกำหนดว่า “ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลไอซีเจ (ศาลโลก) ในทุกเรื่อง” เพื่อป้องกันผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องหยิบยกประเด็นนี้มาหารืออีก รองนายกรัฐมนตรีไม่ประสงค์จะกล่าวถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดการขยายความ ขณะเดียวกันยืนยันว่าในชีวิตนี้ไม่เคยพบกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเชื่อว่าภาพถ่ายของตนเองกับสมเด็จฮุน เซน ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นผลจากการใช้ AI และปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ)

นายภูมิธรรมปฏิเสธข่าวลือเรื่องการปลดแม่ทัพภาคที่ 2 โดยระบุว่าเป็นความพยายามปลุกปั่นให้เกิดความระแวง ย้ำว่าเรื่องชายแดนมีความสำคัญและกระทบต่อเอกราชอธิปไตย รัฐบาลจึงพยายามหลีกเลี่ยงการนำไปสู่สงครามเพื่อเห็นแก่ประชาชนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ นายภูมิธรรมยอมรับว่าได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับพลเอก เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาจริง แต่เป็นการหารือในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้นำระดับสูง โดยเน้นการใช้กลไกเจบีซีและหลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่มีการพูดคุยเรื่องการปิดด่านตามที่เป็นข่าว และชี้ว่ากระแสข่าวการล็อบบี้ไม่ให้ปิดด่านนั้นเป็นเรื่องเลอะเทอะ ส่วนกระแสปลุกปั่นให้เกิดการปฏิวัตินั้น เห็นว่าเป็นเพียงความเห็นของแต่ละบุคคล และเชื่อมั่นว่ารัฐบาล ทหาร และกองทัพยังมีความเข้าใจอันดีต่อกัน

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า กองทัพและทหารมีความพร้อมรบและปฏิบัติหน้าที่อย่างดีในการปกป้องอธิปไตย และมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน แม้จะมีความอึดอัดในสถานการณ์ แต่ขอให้เข้าใจการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนข่าวการพบระเบิดในพื้นที่ชายแดนนั้นยังไม่ได้รับรายงานที่ยืนยัน และกรณีข้อมูลทหารกัมพูชารุกล้ำแดนไทย 200 เมตร จนมีการเสนอให้ปิดด่านนั้น นายภูมิธรรมชี้แจงว่าปัจจุบันด่านต่างๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบ และมีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยเรื่องการปิดด่านมีกระบวนการอยู่แล้ว และต้องรอการพิสูจน์หลักฐานทางภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะสามารถชี้แจงได้ในเวทีเจบีซี ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ยืนยันกับนายภูมิธรรมว่าสามารถป้องกันการรุกล้ำได้ แต่จุดที่เป็นปัญหาคือพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งกลไกเอ็มโอยูปี 2543 จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยแม่ทัพภาคที่ 2 ไม่ได้แจ้งว่าจะขอปิดด่านทันที แต่เป็นการหารือถึงความเป็นไปได้หากสถานการณ์ถึงจุดหนึ่ง ซึ่งนายภูมิธรรมเห็นว่าสามารถดำเนินการได้แต่ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นนั้น และการตัดสินใจขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์รายวัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat