POLITICS

’แพทองธาร‘ ดัน คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ แก้ไขกฎกระทรวงจัดเรตติ้งภาพยนตร์

’แพทองธาร‘ ดันคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ แก้ไขกฎกระทรวงจัดเรตติ้งภาพยนตร์ หนุนสัดส่วนภาคเอกชนเข้ามาในคณะพิจารณา เปิดเสรีแสดงความคิดสร้างสรรค์ผลงาน วางเป้า ร่าง พ.ร.บ. THACCA ต้องเข้าสภาฯ กลางปีนี้ ด้าน ’หมอเลี้ยบ‘ แจง อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ใช้งบปี 67 ที่ 2.5 พันล้านบาท ส่วนงานสงกรานต์ เตรียมเสนอ คกก. ซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหญ่ ขอใช้งบกลาง 9 ม.ค.นี้

วันนี้ (4 ม.ค. 67) เวลา 16:00 น. ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาสอบพาวเวอร์แห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งที่ 1/2567

น.ส.แพทองธาร ระบุว่า ในประชุมวันนี้มี 3 เรื่องที่จะพิจารณาแก้ไข โดยเรื่องแรก คือ การแก้ไขกระบวนการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ซึ่งเราเคยคุยกันไว้ และได้เก็บข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะมาตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงของสื่อ และเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะที่ผ่านมา ก็จะมีข้อจำกัด ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างเยอะ และการเซ็นเซอร์ก็จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชน ถึงความไม่สมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงความไม่ชัดเจนของการพิจารณา

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ในวันนี้ตนมองว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ สาขาภาพยนตร์ และซีรี่ย์ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนใน 3 รูปแบบ โดยส่วนแรก คือการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ ทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการ ให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่คณะกรรมการชุดใหม่ที่มาดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่มีคำสั่งตั้งแต่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ชุดใหม่ ที่มาแทน 2-6 ที่หมดวาระ และรักษาการณ์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการใหม่ 9 ชุด รวมชุดแรกที่ยังไม่หมดวาระ เป็นทั้งหมด 10 ชุด แบ่งออกเป็นคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ 8 ชุด และพิจารณาด้านเกมส์โดยเฉพาะ 2 ชุด

ส่วนจุดสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลง คือ สัดส่วนของคณะกรรมการพิจารณาฯ จะต้องมีสัดส่วนของเอกชนต้องมีมากกว่ารัฐบาล เพราะเอกชนเป็นผู้รู้จริง ในสาขาเฉพาะทางของพวกเขา และจะต้องมีสัดส่วนของเอกชนมากขึ้น โดยการกำหนดประธานพิจารณาของแต่ละชุด ให้เป็นเอกชนที่มีคณะกรรมาธิการที่มาจากภาคเอกชน 3 คน และภาครัฐ 2 คน รวมเป็น 5 คน จากเดิมที่มีเอกชน 3 คน และภาครัฐ 4 คน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนในการพิจารณาครั้งนี้ จะทำให้ภาพยนตร์ไทย ได้รับการพิจารณาเรตติ้งที่จะสอดคล้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยการจัดเรตของคนดู ให้เหมาะสม แต่จะไม่ใช่การควบคุมภาพยนตร์ไทยอีกต่อไป

ส่วนที่ 2 คือ การแก้ไขกฎกระทรวง และประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงที่มาของจัดประเภทเรทของภาพยนตร์ จะเป็นการแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยจะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นๆ เรื่องศาสนา เรื่องความมั่นคง รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรทผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย โดยกระบวนการแก้กฎกระทรวงนี้ ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าการแก้ไขจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้

ส่วนที่ 3 คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว นั่นคือการยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิด “สภาภาพยนตร์ไทย” องค์กรใหม่ภายใต้ THACCA มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไปจนถึงการพิจารณาจัดเรทผู้ชมในอนาคต และให้เอกชนเป็นผู้จัดเรทผู้ชมด้วยตัวเอง

“การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดเรทของผู้ชมทั้ง 3 ส่วน คือการเปลี่ยนวิธีคิด ที่ภาครัฐเคยเน้นควบคุมภาพยนตร์ เป็นการสนับสนุนเสรีภาพและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินทุกคน” น.ส.แพทองธาร กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงการตั้ง One Stop Service ที่รวมเอาการติดต่อหน่วยงานราชการหลายๆ หน่วยเข้าไว้ที่เดียว โดยสองอุตสาหกรรมแรกที่จะลงมือทำ One Stop Sevice คือ อุตสาหกรรมเพลง และภาพยนตร์ เพราะการจัดคอนเสิร์ต และการถ่ายทำภาพยนตร์มีปัญหามากที่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานราชการ และประเด็นสุดท้าย คือ กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. THACCA ที่จะเป็นกฎหมายหลักสำหรับหน่วยงานที่จะมาขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ตอนนี้ตัวกฎหมายใกล้เสร็จเต็มที่แล้วค่ะ กำลังอยู่ในขั้นตอนของตรวจสอบความเรียบร้อย แล้วเปิดรับฟังความเห็น โดยเราตั้งใจจะผลักดันให้เข้าสภาภายในกลางปีนี้ให้ได้

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ได้ชี้แจงถึงงบประมาณในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยระบุว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้เสนองบประมาณที่ 5,164 ล้านบาท ซึ่งบางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบในปี 2567 แต่บางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบของปี 2561 และ 2568 รวมกัน เมื่อนำมากลั่นกรองแล้วพบว่า งบปี 2567 จะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นงบของปี 2568 โดยในวันนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ลงรายละเอียด และให้ไปทำคำของบประมาณกับสำนักงานงบประมาณเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงบของแต่ละกระทรวงอีกทั้งเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า

ส่วนการของบ 3,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นงบที่มาจากหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณว่า ตัวเลขงบประมาณ 3,500 ล้านบาท มีอยู่ในการพิจารณางบ ปี 67 กว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น งบที่ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ได้เสนอมาจะอยู่นอกเหนือจากที่หน่วยงานราชการตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหญ่ที่ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันอังคารที่ 9 มกราคมนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไร ในที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี67 ตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตงบประมาณของคณะกรรมการซอฟพาวเวอร์อาจจะต้องใช้งบกลาง โดย นพ.สุรพงษ์ กล่าวย้ำว่า ตัวเลขที่จะใช้ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีงบของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นส่วนที่เหลือประมาณ 2,500 ล้านบาทก็จะต้องดำเนินการของบกลางเพื่อมาดำเนินงาน โดยเฉพาะบางกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน เช่น การเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ มี่จะต้องดำเนินการของบประมาณในที่ประชุมคณะกรรมการซอฟพาวเวอร์ชุดใหญ่วันที่ 9 มกราคมนี้

Related Posts

Send this to a friend