POLITICS

‘ปิติพงศ์’ ชี้ คดีอธิบดีกรมอุทยานเรียกรับสินบน สะท้อนปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ

‘ปิติพงศ์’ ชี้ คดีอธิบดีกรมอุทยานเรียกรับสินบน สะท้อนปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ  เรียกร้องนายกฯ ตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจัง

วันนี้ (4 ม.ค. 66) ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ดร.ปิติพงศ์เต็มเจริญ’ กรณีอธิบดีกรมอุทยานฯ ถูกจับข้อหาสินบนโดยมีใจความว่า

“อธิบดีถูกจับข้อหาสินบน คนทำเป็นน้องชายของคนเคยเป็นหน้าห้องนายก แต่นายกทำเพียงแค่ย้ายมาช่วยราชการ นี่หรือการปราบทุจริตที่นายกพูดมาตลอด 8 ปี ?

จากกรณีการบุกเข้าจับกุม “นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคาห้องทำงาน เมื่อ 27 ธันวาคม 2565 หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนถึงพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่งในหน่วยงาน และมีการเรียกรับเงินจากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เป็นรายเดือน เดือนละหลายแสนบาท จนมีการขยายผลตรวจค้นภายในห้องทำงาน และพบเงินสดจำนวนมากเกือบ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเป็นซองเงิน ที่เขียนกำกับหน้าซอง ระบุถึงแหล่งที่มาของเงิน และเดือนที่จ่าย จากหน่วยงานในสังกัดของกรมอุทยานฯ นั้น

เหุตการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งของวงการข้าราชการ ที่ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานต่างออกมาประกาศนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ออกมาประกาศตัวชัดเจน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต และมีการประกาศนโยบายการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ในการ“งดรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิด” จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริตในการปฏิบัติงาน ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

การจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในหมู่ข้าราชการนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ยังคงมีอยู่และทำกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน

การที่หน่วยงานรัฐ จัดรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน มีการประกาศนโยบาย No Gift policy ไม่เกิดประโยชน์และ สะท้อนว่าทำไมดัชนีคอร์รัปชันของประเทศไทย จึงไม่ขยับไปไหน เพราะคนที่มีอำนาจแต่ละคนใส่หน้ากากกันทั้งหมด และไม่ละอายที่จะมายืนทำตัวเป็นคนดี กล้าเขียนนโยบาย กล้าประกาศ ต่อต้านทุจริต คอร์รัปชัน แต่ไม่ยอมทำอะไร ไม่ใส่ใจ ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา และไม่ใส่ใจที่จะทำตามกฎหมายถือว่าเป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีล

ถ้าผู้นำของประเทศในทุกระดับ ใส่ใจและยอมรับความจริง ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่ว่า เมื่อมีคนแจ้งเบาะแสการทุจริตก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่เคยเกิดขึ้น หรือโทษว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก ถ้ามีการปฏิเสธเช่นนี้ออกมาก่อนก็จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทำให้ประชาชนที่จับตามองก็ยิ่งเอือมระอา

ผมขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบการทุจริตในกรณีนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นน้องชายของเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของท่าน และเคยเป็นหน้าห้องของนายกมาก่อน ไม่เช่นนั้นจะถูกครหาได้ว่าท่านกำลังปกป้องคนของตัวเอง

การทำได้เพียงย้ายมาช่วยราชการนั้น ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และไม่สามารถแก้ไขและขจัดการทุจริตได้อย่างยั่งยืน ผู้นำจะต้องจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งภาครัฐจะต้องหามาตรการที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองข้าราชการ หรือประชาชนที่พูดความจริงต่อไปครับ”

Related Posts

Send this to a friend