POLITICS

’ประชาธิปัตย์‘ ไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘ก้าวไกล‘ ย้ำต้องไม่รวมคดี ม.112 – คดีทุจริตฯ

วันนี้ (3 ก.พ. 67) นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ว่า ในส่วนของพรรค เห็นด้วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางให้เกิดความชัดเจนทั้งในเรื่องของเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมฐานความผิดใดบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรมรวมไปถึงกระบวนการในการพิจารณาพิจารณาวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม

ซึ่งมีความจำเป็นต้องแยกให้ชัดว่าคดีประเภทใดที่เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองความคิด ความคิดทางการเมือง ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยในส่วนของพรรคได้มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส. จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว พรรคก็ได้นำความคิดเห็นผ่านกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรค นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ทั้งนี้ นายราเมศ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกล ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่ง ซึ่งฉบับดังกล่าวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นทั้งในเรื่องของการกำหนดความผิด อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด บุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะรวมคดีเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในส่วนของคดีทุจริตก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วย รวมถึงคดีอาญาที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อชีวิตความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และความผิดในทางแพ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ร้ายแรงดังกล่าว

อีกทั้ง การยอมรับจากผู้เสนอร่างฉบับนี้คือนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าร่างนิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกล และการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ซึ่งการกระทำความผิดมาตรา 112 หลักความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องแนวความคิดทางการเมืองไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่จะนำมาเป็นประเด็นนำไปสู่การนิรโทษกรรมเป็นการตั้งใจกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากวาระที่ซ่อนเร้น ซึ่งในมาตรา 4 ของร่างกฏหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดในมาตรา 5 ที่มีนักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการมีการกำหนดให้ผู้พิพากษา และตุลาการเข้าไปมีส่วนร่วมซึ่งจะทำให้ขัดต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

“ถ้าไปดูอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอำนาจไว้มากกว่าอำนาจตุลาการไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยฐานความผิดการวินิจฉัยในข้อสงสัยว่าคดีใดจะอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้หรือไม่ กำหนดให้มีอำนาจสั่งให้ศาลระงับการพิจารณาคดี สั่งให้มีการปล่อยตัวจำเลย ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ” นายราเมศกล่าว

Related Posts

Send this to a friend