อดีตประธานศาลฎีกา-สสร.-กกต. มอง “กฎหมายไม่ได้เลวร้าย แต่คนใช้มีปัญหา”
อดีตประธานศาล-สสร.-กกต. มองศาลและองค์กรอิสระอาจทำงานพลาดได้ “กฎหมายไม่ได้เลวร้าย แต่คนใช้มีปัญหา” ชี้กลไกในรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ ควรเปิดช่องให้ประชาชนตรวจสอบมากขึ้น
วันนี้ (2 พ.ย. 66) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดสัมมนาทางวิชาการ “กระบวนการตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สัจจวัตน์ เรืองกาญจน์กุล และอาจารย์ฐิติพร วัฒนชัย
ศ.พิเศษ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า สะเทือนใจที่ประเทศไทยไม่เคารพศาล ศาลยุติธรรมมีบารมีมาก แต่ศาลปกครองไม่ได้รับการเคารพเลย ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจรัฐประหาร ก็มีกระแสการยุบศาลปกครอง แต่เท่าที่ได้ร่วมทำงานมา ก็พบว่าเป็นเรื่องของคนทำหน้าที่ ซึ่งอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่นี่เป็นธรรมชาตินักกฎหมาย มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ จึงมีความเห็นแตกต่างกันได้
ศ.พิเศษ ดร.ชาญชัย เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อกลไกตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ แต่องค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบนั้น สมควรถูกตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการทางวิชาการและสังคม จากภาคประชาชนผ่านสื่อมวลชน จึงต้องการปลุกเร้าให้นักวิชาการออกมาแสดงความเห็นออกมาให้มากขึ้น โดยมีภาคประชาชนและสื่อมวลชนช่วยขยายความ
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ ดร.ชาญชัย ยังกล่าวว่า ไม่ควรมีวัฒนธรรมของรัฐบาล ที่เมื่อใดแพ้คดีจะต้องยื้อถึงที่สุด จนมีการขอพิจารณาคดีใหม่อย่างไม่สิ้นสุด อย่างคดีโฮปเวลล์ และคดีคลองด่าน
“กฎหมายไทยไม่ได้เลวร้าย แต่คนบังคับใช้ บังคับใช้บ้าง ไม่บังคับใช้บ้าง รัฐธรรมนูญก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง ตามอัธยาศัย” ศ.พิเศษ ดร.ชาญชัย กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กล่าวถึงตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism)
สำหรับประโยคที่ว่า ตุลาการภิวัฒน์ ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า มาจากกรณีศาลตัดสินผิด ซึ่งอาจตัดสินผิดด้วยข้อเท็จจริงหรือกฎหมายโดยบริสุทธิ์ใจ หรือตัดสินผิดด้วยมูลเหตุชักจูงใจ หรือเอาปัจจัยภายนอกที่ไม่ใช่กฎหมายมากำหนด เช่น นโยบาย หรือความรู้สึกทางสังคมมาตัดสิน การตัดสินผิดเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงศาลยุติธรรมด้วย
“หากศาลไม่ได้มองที่ตัวกฎหมาย แต่มองที่เม็ดเงิน ก็จะเป็น Judicial Activism (ตุลาการภิวัฒน์) … กฎหมายไทยไม่ได้เลวร้าย กฎหมายไทยใช้ได้ หากตีความเป็นเหตุเป็นผลหน่อยก็จะดี แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้กฎหมาย” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ศ.ดร.สมคิด มองว่า ศาลสามารถตัดสินผิดได้ แต่ไม่ใช่การเรียกรับเงิน เอาปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวชี้ขาด เช่น คดีซุกหุ้นที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านเห็นว่า ผู้ซุกหุ้นเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งนี้ส่วนตัวถือเป็นตุลาการภิวัฒน์
“ศาลก็เป็นปุถุชนธรรมดา แต่มีนู่นมีนี่เข้ามาในสมองเยอะ ศาลไม่ได้ดูกฎหมายแท้ ๆ หรอก ศาลไทยดูนโยบายรัฐบาล ดูสภาวะสังคม หลายอย่างประกอบ การตัดสินแบบนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของศาลน้อยลง ถ้าอยากให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างยั่งยืนยาวนาน การตรวจสอบศาลก็มีความจำเป็น” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
สุดท้าย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อภิปรายถึงองค์กรอิสระว่า หลายองค์กรใช้อำนาจแบบกึ่งตุลาการ แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดในการทำงานได้ อย่าง กกต. เคยมีกรณีการตัดสินใบส้มผิด จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 70 ล้านบาท หรือการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง หรือแม้แต่การวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ
รศ.สมชัย เห็นว่ากลไกในการตรวจสอบนั้น แม้มีช่องทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่แล้ว แต่กลไกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่หายไปแล้ว คือ การเข้าชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 ชื่อต่อวุฒิสภา และการเข้าชื่อของ สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสภาฯ ต่อวุฒิสภา เป็นต้น
“ไม่ว่าจะมีสิ่งที่เขียนในกฎหมายหรือไม่ กลไกในการตรวจสอบองค์กรอิสระก็เป็นไปด้วยยากลำบาก ถึงมีก็ไม่สำเร็จ หรือไม่เป็นมรรคเป็นผล จนองค์กรอิสระอาจมีความสุขมากเกินไป ทำอะไรก็ได้ และจ่ายเงินก็ได้” รศ.สมชัย กล่าว