POLITICS

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น กรณีแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาปี 51

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น กรณีแกนนำกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาเมื่อปี 51 เพื่อกดดันขับไล่ให้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ลาออก

วันนี้ (2 พ.ย. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 806 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำ อ.4924/55 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันชุมนุมที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตแนวร่วมคนอื่นๆ รวม 21 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

โดยกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 7 ตุลาคม 2551 จำเลยซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวาย ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ลาออกจากตำแหน่ง โดยปิดล้อมสถานที่ราชการ รัฐสภา เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

โดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116,215,216,309,310 รวม 5 ข้อหา ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ วันนี้ จำเลยทั้ง 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกเว้นนายสมเกียรติพงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ศาลจึงจำหน่ายคดีจำเลยรายนี้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้งหมดก่อความวุ่นวาย และชุมนุมไม่ชอบ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในขณะนั้น ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบ จึงออกมาชุมนุมตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ส่วนข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน เบิกความว่าจำเลยทั้งหมด เป็นคนสั่งการให้มวลชนกระทำการวุ่นวาย แต่เห็นว่ามวลชนตอบโต้ตำรวจ เนื่องจากโกรธแค้นที่เข้ามาสลายการชุมนุม จำเลยทั้ง 20 คน จึงไม่มีความผิด ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

ส่วนข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นและหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น พยานหลักฐานโจทย์ไม่สามารถเบิกความให้เห็นว่าจำเลยทั้งหมดข่มขืนใจ หรือสั่งการใช้ให้ผู้ชุมนุมกระทำการปิดลอมอาคารรัฐสภา แต่เป็นการที่ผู้ชุมนุมทำเองโดยตอบโต้ตำรวจ เพื่อระบายความโกรธแค้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมด กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้อง

ด้านนายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ ได้เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่ตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันได้ตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้น การชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำก่อน

ส่วนทางโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า สองศาลยกฟ้องแล้ว คดีนี้ควรจะต้องถึงที่สุดแล้ว แต่มีหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในองค์คณะทำความเห็นแย้ง ก็อาจเป็นข้ออ้างให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาได้ ซึ่งจะต้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา

ส่วนจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากนี้นั้น ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ หลังเข้ารับฟังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายสนธิ รีบเดินไปยังรถ โดยไม่มีการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนแต่อย่างใด พร้อมเผยว่า “แพ้ก็ไม่ให้สัมภาษณ์ ชนะก็ไม่ให้สัมภาษณ์ ศาลยกฟ้องไปแล้วนิ”

สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของพวกจำเลย เป็นการเเสดงสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนเเรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ เเละเเม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง เเต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมเเสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งเเต่วันที่ 5 -7 ตุลาคม 2551 ไม่ปรากฏว่ามีความรุนเเรง หรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้งหมดประกอบด้วย

1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล

2.นายพิภพ ธงไชย

3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต)

4.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า

5.นายประพันธ์ คูณมี

6.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข

7.นายสุริยะใส กตะศิลา

8.นายอมร อมรรัตนานนท์

9.นายสำราญ รอดเพชร

10.นายศิริชัย ไม้งาม

11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน

12.นายพิชิต ไชยมงคล

13.นายอำนาจ พละมี

14.นายกิตติชัย ใสสะอาด

15.นายประยุทธ วีระกิตติ

16.นายสุชาติ ศรีสังข์

17.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ

18.นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี

19.นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก

20.นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ

21.นายวีระ สมความคิด

Related Posts

Send this to a friend