POLITICS

รองโฆษกรัฐบาล แจง 9 ประโยชน์จากกฎกระทรวงผลิตสุรา

รองโฆษกรัฐบาล แจง 9 ประโยชน์จากกฎกระทรวงผลิตสุรา ชี้ เอื้อรายย่อย ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

วันนี้ (2 พ.ย. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการออกกฎกระทรวงนี้ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สนใจประชาชน เเค่กลัวเสียหน้า กลัวขัดผลประโยชน์นายทุน ว่า เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่เห็นประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาผลการเมืองของตนเองเป็นหลัก ทั้งที่ ประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 มีประโยชน์กับประชาชน 9 ประการ ดังนี้

1.กฎกระทรวงบังคับใช้ได้ทันเหตุการณ์ ทันที เหมาะกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราที่เปลี่ยนไป

2. สอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจและการขออนุญาตจะทำได้ง่ายขึ้น

3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้มากขึ้น เกิดความเท่าเทียมในการเข้าสู่ตลาด ไม่กีดกันทางการค้า

4. สุราได้คุณภาพมาตรฐานและเกิดการแข่งขันด้านกลไกตลาดที่เป็นธรรม

5. คุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคให้ปลอดภัยได้มากกว่า

6. ดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ด้วยมีกฎหมายควบคุมไว้แล้ว

7. รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน

8. จัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เพิ่มรายได้เข้ารัฐที่จะส่งต่อให้สังคม และ

9. อุดช่องโหว่เรื่องไม่ควบคุมการผลิตสุรา ที่มิใช่เพื่อการค้า

น.ส.ทิพานัน ยังกล่าวอีกว่า เมื่อได้พิจารณาศึกษาบทบัญญัติในกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้จากการปลดล็อคการผลิตสุรา จะกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างประเทศที่ไม่ผูกขาด และผู้บริโภคก็ยังปลอดภัย โดยปรับกฎสำคัญ คือ อนุญาตให้ผู้ผลิตที่ไม่ใช่เพื่อการค้าได้รับอนุญาตสามารถผลิตสุราในครัวเรือนได้ และหากต้องการเป็นผู้ผลิตก็สามารถทำได้

กรณีเบียร์ ผู้ผลิตขนาดเล็ก SME กฎเดิม ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทกำลังการผลิต 100,000 ลิตรถึง 1,000,000 ลิตรต่อปี และเป็นบริษัทตามกฏหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ส่วนกฎใหม่ ผู้ผลิตขนาดเล็กก็สามารถทำได้เพราะยกเลิกทุนจดทะเบียน ยกเลิกกำลังการผลิต ซึ่งต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตสุราที่มีมาตรฐานตามที่กรมสรรพสามิต กำหนดและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

กรณีเบียร์ ผู้ผลิตขนาดใหญ่ (อุตสาหกรรม) กฎเดิม ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทกำลังการผลิต 100,000 ลิตรถึง 10,000,000 ลิตรต่อปี และเป็นบริษัทตามกฏหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ส่วนกฎใหม่ ผู้ผลิตขนาดใหญ่ยกเลิกทุนจดทะเบียน ยกเลิกกำลังการผลิต ต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้ระบบการพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการและจัดทำรายงานตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรณีสุรากลั่นและสุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ ขนาดเล็ก (SME) กฎเดิม ต้องเป็นสหกรณ์วิสาหกิจชุมชนองค์กรเกษตรกรห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทใช้เครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้า ส่วนกฎใหม่ โรงสุราการและสุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ขนาดเล็กยังใช้หลักเกณฑ์เหมือนเดิมและถ้าผลิตสุรามาแล้วหนึ่งปีโดยไม่มีการกระทำผิดกฏหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตสามารถขยายขนาดโรงงานได้ต่ำกว่า 50 แรงม้า

กรณีสุราแช่ขนาดใหญ่ (อุตสาหกรรม) กฎเดิม เป็นบริษัทตามกฏหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ส่วนกฎใหม่ เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

น.ส.ทิพานัน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกล เสนอใน. ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2565(สุราก้าวหน้า) ได้ข้อเสนอให้ผู้ผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า ให้ทำเพียงแค่จดแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุรา ชนิดสุรา ขั้นตอนการผลิต และปริมาณการผลิตเท่านั้น อาจเป็นช่องโหว่ที่เสี่ยง ให้การเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่อาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ทุกอย่างก็ยังอยู่ในกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ตามปกติขั้นตอน

ส่วนในฝ่ายบริหาร ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอ และ ครม. มีมติประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 การอนุญาตให้ผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า รัฐบาลให้ความสำคัญคือ ต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยในการผลิต สถานที่ผลิตที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่นในชุมชน และสุราที่ผลิตจะต้องปลอดภัยมีคุณภาพได้มาตรฐาน

นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ในกฎกระทรวงยังมีการคำนึงถึงการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เป็นกฎหมายที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้บริโภค อีกทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัยในสังคม มุ่งหวังที่จะส่งเสริมภูมิปัญาท้องถิ่น ผู้ผลิตสุรารายใหม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจสุราได้ง่ายขึ้นและผู้ผลิตสุราขนาดเล็กรายเดิมสามารถเติบโตได้ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพสุราและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย

Related Posts

Send this to a friend