POLITICS

สสว. ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC SME ทั้งระดับรัฐมนตรี และระดับคณะทำงาน

สสว. ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC SME ทั้งระดับรัฐมนตรี และระดับคณะทำงาน ด้วยหัวข้อหลักภายใต้ BCG Model มุ่งเสริมความรู้และประสบการณ์การส่งเสริม SME จากเขตเศรษฐกิจอื่นๆ พร้อมแสดงศักยภาพของไทยหลังวิกฤติ COVID-19 และความพร้อมของ จ.ภูเก็ต ที่มี Soft Power โดดเด่นพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เชื่อมั่นการประชุมครั้งนี้จะมีแนวทางช่วยให้ SME พัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก และความพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าและประชาสัมพันธ์การที่ สสว. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 และการประชุมคณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Working Group Meeting) ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2565 ณ โรงแรม ทราย ลากูนา จังหวัดภูเก็ต

สำหรับการประชุมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการที่ไทยมีวาระเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค (APEC Host Economy) ในปี พ.ศ. 2565 โดย สสว. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบกรอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดท่าที ที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยและธุรกิจ SME ในเวทีความร่วมมือพหุภาคี

พร้อมกับเชื่อมโยง SME ไทยกับพันธมิตรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพ SME ไทย ให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

โดยบทบาทของ สสว.ในฐานะผู้แทนไทยในคณะทำงานเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีภารกิจเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประกอบด้วย

  1. การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งเป็นการประชุมระดับนโยบายด้านการพัฒนา SME ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก
  2. การประชุมคณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Working Group Meeting) ครั้งที่ 54 ซึ่งเป็นการประชุมระดับปฏิบัติการ ที่รวบรวมผลสรุปจากการประชุมของคณะทำงานฯ ด้านความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ
  3. การประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ภายใต้คณะทำงานเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

โดยกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยังยืน (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model) คือ “Inclusive Recovery of APEC MSMEs through BCG & High Impact Ecosystem” เพื่อให้สอดรับกับการให้ความสำคัญในระดับสากล ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือที่จะเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการให้เอเปค “เปิด” ต่อทุกโอกาส “เชื่อมต่อ” ในทุกมิติและ “สมดุล” ในทุกด้าน

เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนา SME จากเขตเศรษฐกิจอื่น โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมศักยภาพ SME ภายใต้ BCG Model ประกอบด้วย 4 หัวข้อย่อย ได้แก่

  1. การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจองค์รวม (Accelerating BCG Adoption)
  2. การขับเคลื่อนและพัฒนา SME ให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัล (Inclusive Digital Transformation)
  3. เครื่องมือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ (The Next Normal MSME Financing and Debt Restructuring) และ
  4. การรับมือกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยนโยบายที่มีผลกระทบสูง (Coping with evolving market landscape: high impact policy)

“สสว. เตรียมความพร้อมในทุกด้านสำหรับการจัดประชุม APEC SME ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากการจัดประชุมแล้ว ภายในพื้นที่จัดงานจะมีการแสดงสินค้าของผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับการพัฒนาด้วยแนวทาง BCG

ขณะเดียวกันจะมีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19 ความโดดเด่นของจังหวัดภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วิถีวัฒนธรรมของชุมชนเมืองเก่า ซึ่งเป็น Soft Power ที่สำคัญ เพื่อให้เห็นถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ที่เป็นพลังขับเคลื่อนหลักของพื้นที่” นายวีระพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี สสว. เชื่อว่าผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับใช้ในการส่งเสริม พัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุม มีขีดความสามารถในการพัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Related Posts

Send this to a friend