POLITICS

‘ศิริกัญญา’ เผย กมธ.ตัดงบได้ 16,000 ล้าน ดักคอจะคืนเป็นสวัสดิการ ปชช.หรือจะถูกตีเป็น ‘งบกลาง’

‘ศิริกัญญา’ เผย กมธ.ตัดงบได้ 16,000 ล้าน ดักคอจะได้คืนเป็นสวัสดิการประชาชน หรือจะถูกตีเป็น ‘งบกลาง’ จับตา วันนี้ อาจมี ‘ฝ่ายค้าน’ ร่วมผ่านงบเตรียมเลือกตั้ง

วันนี้ (2 ส.ค. 64) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 แถลงข่าวกรณีการแปรญัตติงบประมาณคืนแก่หน่วยงานต่างๆ ที่ตกลงกันไม่ลงตัวในชั้นกรรมาธิการสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยระบุว่า อย่างที่ได้ทราบกันว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ก.ค. 64 มีวาระที่ของกรรมาธิการงบประมาณที่จะลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดมาทั้งหมดประมาณ 16,300 ล้านบาท แต่การลงมติยังไม่ประสบความสำเร็จจึงมีการนัดอีกครั้งเพื่อลงมติในเวลา 13.00 น. วันนี้

ในการลงมติเมื่อวันเสาร์มีการยื่นเสนอเป็นญัตติ 2 ญัตติ ญัตติแรกเป็นของ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยื่นแปรงบประมาณไปที่งบกลางประมาณ 10,000 ล้านบาท อีกญัตติหนึ่งเป็นของตน ที่ได้เสนอแปรงบประมาณ 16,000 ล้านบาท ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นการชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินจัดเก็บปี 63- 64 มูลค่า 13,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะไปที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ 860 ล้านบาท ,กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษาเพื่อจัดสรรไปให้เด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบ 700,000 คน 631 ล้านบาท ไปที่กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท นอกจากนี้จะไปที่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูบทบาทสตรี

“ญัตติที่ตั้งขึ้นผ่านการเจรจาต่อรองกับกรรมาธิการหลายท่านทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จนได้เสียงจากกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลมาส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายยังไม่เด็ดขาดพอ ญัตติจึงถูกเลื่อนมาลงมติอีกครั้งในวันนี้ซึ่งไม่ทราบว่าในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจะมีการเจรจาไปยังฝ่ายรัฐบาลที่เคยสนับสนุนญัตติของดิฉันไว้แค่ไหน แต่ขอยืนยันว่าญัตติของท่านบุญสิงห์ยังมีความไม่ชอบมาพากลและไม่เหมาะสมในหลายประการ”

ศิริกัญญา ได้ชี้แจงข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลและความไม่เหมาะสมในการแปรคืนงบประมาณเป็นงบกลางว่า 

ประการแรก การจัดสรรงบกลางอีก 10,000 ล้านบาท แม้จะอ้างว่าเพื่อนำไปแก้ไขช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์โควิด แต่ความจริงแล้วสภาเพิ่งอนุมัติกู้ไปให้อีก 500,000 ล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นใดต้องเพิ่มงบกลางและรัฐบาลยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 50,000 ล้านบาทตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโควิด-19 จึงไม่ใช่ไม่มีเงินและยังไม่มีความจำเป็นใดที่จะนำเงินที่ตัดมาได้ใส่ไปในงบกลางเพิ่ม 

ประการที่สอง งบกลางเป็นงบที่ตรวจสอบยากมาก เนื่องจากเป็นอำนาจเต็มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบงบส่วนนี้ได้อย่างง่ายดายเลย ไม่ว่าจะขอข้อมูลไปทั้งทางสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง หรือหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลมา ดังนั้นการโอนที่เหลือไปเป็นงบกลางที่ตรวจสอบยากและเป็นการให้อำนาจไปที่ พล.อ. ประยุทธ์ แม้จะอ้างว่าเพื่อสถานการณ์โควิดก็ตาม แต่การตรวจสอบไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

ประการที่สาม ไม่ใช่ว่างบประมาณที่ตัดมาไม่มีที่ไป แต่หน่วยงานที่ต้องการได้แปรญัตติเพื่อของบประมาณเป็นวงเงินรวมมากกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ต้องการเงินจากตรงนี้เพราะปีนี้มีการตั้งงบประมาณที่ลดลงกว่าปีก่อนถึง 200,000 ล้านบาท จึงควรคืนกลับไปไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา หรือกองทุนประกันสังคมที่ปี 63-64 ที่ผ่านมาได้ควักเงินจากกองทุนที่ว่างงานไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยก็ดี หรือเงินที่หายไปจากการลดเงินสมทบผู้ประกันตนก็ดี รวมแล้วประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลก็ยังติดหนี้กองทุนฯ อีก 76,000 ล้านบาทและไม่มีการตั้งงบเพื่อใช้หนี้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงมีงบประมาณส่วนอื่นเหมาะสมและควรถูกใช้มากกว่าเป็นงบกลาง

“ที่บอกว่ามีความไม่ชอบมาพากลคือ พอมีกรรมาธิการส่วนหนึ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลเองที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบกลางสูงขนาดนี้ ก็มีการต่อรองว่าเหลือ 5,000 ล้านบาทก็ได้ แสดงไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าควรใช้เท่าไหร่ในโครงการอะไรกันแน่ หรือความจริงแค่เตรียมงบประมาณเพื่อเตรียมเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ช้า จึงอยากให้จับตาร่วมกันว่าการลงมติในวันนี้ จะเป็นการลงมติเพื่อทำให้เงินที่เหลือจากการตัดงบประมาณเป็นการคืนหน่วยงานเพื่อเป็นสวัสดิการให้ประชาชน หรือเป็นการคืนงบเพื่อตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุธ์ หลายพรรคเห็นตรงกันว่า เงินที่จะชดเชยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความจำเป็น แต่ท่านบุญสิงห์กลับให้เอาไปใส่งบกลาง กลายเป็นเรื่องที่ควรจำเป็นเร่งด่วนกลับไม่ได้ แต่เรื่องไม่เร่งด่วนกลับจำเป็นกว่า 

นอกจากนี้ในอดีตก็มีเรื่องประมาณว่างบเหล่านี้จะถูกกระจายหรือให้ ส.ส.ไปทำพื้นที่ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องเหล่านี้แต่ก็ถูกพูดกัน ซึ่งฝั่งรัฐดูจะอยากให้เป็นงบกลางเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ในการลงมติวันนี้อาจเห็น กมธ.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านโหวตแบบนี้ก็อาจเป็นไปได้ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนและสื่อมวลชนช่วยกันจับตาดูรายชื่อการลงมติในวันนี้ว่าใครลงมติอย่างไรบ้าง” 

Related Posts

Send this to a friend