อธิบดีกรมโยธาฯ เข้ารายงาน ‘อนุทิน’ ถึงความคืบหน้าสอบตึก สตง. ถล่ม
อธิบดีกรมโยธาฯ เข้ารายงาน ‘อนุทิน’ ความคืบหน้าสอบตึก สตง. ถล่ม เผย ทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ ชี้ แบบจำลองตอบสาเหตุได้แน่
วันนี้ (2 พ.ค. 68) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคาร สตง. เข้ารายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบ กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เข้ารายงานใน 3 ประเด็น คือเรื่องการตรวจสอบความเสียหายของอาคาร โดยแบ่งเป็นการคารทั้งของภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยในเบื้องต้นมีการตรวจสอบอาคารภาครัฐในกทม. 300 กว่าหน่วยงาน ประมาณ 900 กว่าอาคาร พบว่ามีความเสียหายรุนแรงกระทบต่อการใช้งานเพียง 1 อาคาร คือ อาคารของสตง. ส่วนต่างจังหวัดจะเน้นไปที่อาคารโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารราชการ ซึ่งได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 3,000 กว่าหน่วยงาน ประมาณ 9,000 กว่าอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งมีอาคารที่เสียหายและปิดการใช้ 16 อาคาร จากทั้งหมด 76 จังหวัด ซึ่งอาคารที่เสียหาย จะเห็นได้ว่ามีน้อยมาก และความรุนแรงระดับที่สามารถซ่อมแซมได้ตามหลักวิชาการก่อนที่จะเปิดบริการให้ใช้ ในส่วนที่เป็นอาคารของเอกชน มีการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นอาคาร 9 ประเภท ตามกฎหมายที่ต้องมีการตรวจสอบทุกปี ให้แก่อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่มีการชุมนุมที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร โรงมหรสพ สถานบริการที่มีพื้นที่ มากกว่า 200 ตารางเมตร โรงแรมที่เกิน 80 ห้อง อาคารชุด หอพักที่มีเนื้อที่เกิน 2000 ตารางเมตร และโรงงานที่มีความสูง 1 ชั้นขึ้นไป และมีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร และป้ายที่มีความสูง เกิน 15 เมตร โดยอาคาร 9 ประเภทเหล่านี้ โดยปกติต้องมีการตรวจสอบทุกปีโดยผู้ตรวจสอบที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง
นายพงษ์นรา กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มีนาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ได้มีการสั่งการให้มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่าแผ่นดินไหวกระทบต่ออาคาร 9 ประเภท เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งใน กทม.ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคาร 9 ประเภทได้มีการตรวจสอบ และได้มีการออกคำสั่งไปแล้ว 11,000 อาคารในเขต กทม. และได้มีการตรวจสอบแล้ว 5,000 กว่าอาคาร ที่มีการตรวจสอบและได้มีการรายงานมาแล้วไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงขึ้นขั้นต้องปิดการใช้หรือถึงขั้นสีแดง
ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด มีประมาณ 6 หมื่นกว่าอาคาร ใน 76 จังหวัด ทางท้องถิ่นได้มีการแจ้งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอยู่ การรายงานให้กรมโยธาธิการทราบในทุก 15 วัน ในกรณีที่เป็นอาคาร 9 ประเภท ส่วนอาคารอื่น ๆ อาคารขนาดเล็ก ทาง กทม. จะรับเรื่องร้องเรียน ผ่าน Traffy fondue ของ กทม. เพื่อให้ชาวบ้านได้ร้องเรียน เพื่อ กทม. จะได้เข้าไปตรวจสอบ ในปัจจุบันได้มีการแจ้งเรื่องให้ไปตรวจสอบประมาณ 20,000 เรื่อง และกทม. เองได้มีการดำเนินการตรวจสอบและแนะนำแล้ว ประมาณ 18,000 กว่าเรื่อง เหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนอาคารต่างจังหวัดสำนักโยธาธิการและผังเมืองทางจังหวัด ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำปรึกษาแนะนำกับประชาชน
นายพงษ์นรา ระบุอีกว่า การรายงานความก้าวหน้าในการสืบสวน สืบหาเหตุการณ์ความถล่มของอาคารสำนักงานสตง. โดยได้นำเรียนในเบื้องต้นว่า เราได้ตรวจสอบในเรื่องของการคำนวณ ซึ่งกำลังตรวจสอบในเรื่องของรายละเอียด เนื่องจากว่ามีรายละเอียดจำนวนมาก ที่กำลังตรวจสอบในเรื่องรายละเอียดอยู่ และมีแนวเรื่องที่กำลังทำคู่ขนานกันไป คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่าอาคารสตง.มีการทางถล่มเกิดจากการออกแบบหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้ขอเวลาการพิสูจน์ ต่อนายกรัฐมนตรีไว้ 90 วัน ซึ่งตามแผนมีอยู่ 4 สูตร ไปไทม์ไลน์ที่กำหนด ในระยะเวลา 90 วันนี้ ก็จะได้ผลว่าการออกแบบตามแบบทำให้อาคารพังหรือไม่ วิธีการคือสร้างแบบจำลองโดยนำแบบเข้าในคอมพิวเตอร์ และกำหนดคุณสมบัติของวัสดุเข้าไปในแบบจำลอง และให้แรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจริงกระทำกับอาคาร จึงจะทำให้รู้ว่าอาคารสตง. นี้พังหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และภายใน 90 วันก็จะสามารถพิสูจน์ได้
ส่วนเรื่องการตรวจสอบเอกสารได้มีการร่วมตรวจสอบเอกสารจากการไปตรวจยึด ในพื้นที่ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ก็จะมีการตรวจสอบในเรื่องของรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ การขออนุมัติ การเทคอนกรีต และในเรื่องการทดสอบวัสดุต่างๆ ส่วนวัสดุที่เก็บหน้างานมีการเก็บร่วมกับตำรวจ และทางตำรวจได้มีการอายัติไว้ไปตรวจสอบ
นายพงษ์นรา ระบุว่า ต้องไปปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.วิชาชีพวิศวกร และมาตรฐานของการก่อสร้างของพ.ร.บจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่ากรอบระยะเวลา 90 วันจะสามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ใช่หรือไม่ นายพงษ์นรา กล่าวว่า ขณะนี้ใช้เวลาดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน และแบบจำลองนี้ทำโดย 5 หน่วยงาน แล้วมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแบบจำลอง และทำออกมาเป็นบทสรุป
ส่วนตอนนี้คณะกรรมการชุดที่ตรวจสอบพุ่งเป้าไปที่ประเด็นใดนั้น สิ่งที่ดูได้ทันทีคือการคำนวณตามแบบที่มีการจ้างการก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว และที่มีการแก้ไขแบบ ว่าปัจจุบันที่อาคารก่อสร้างหลังนี้มีการออกแบบก่อสร้างคู่สัญญา และมีการแก้ไขแบบส่วนใดบ้าง ที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เราจะมีการนำเข้าแบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองชุดนี้ เหมือนกับนำอาคารจริง ก่อนที่จะมีการพังถล่ม และมีการรันโมเดลเข้าไปในระบบ
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ที่รองศาสตราจารย์เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษา สาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วศท. ให้ความเห็นว่าแบบไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง นายพงษ์นรา กล่าวว่า ตอนนี้ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการเพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมตนไม่สามารถพูดก่อนได้
นายพงษ์นรา ยืนยันว่า แบบจำลองจะสามารถตอบคำถามวาเหตุของตึกถล่มได้ ซึ่งแบบจำลองที่เราตรวจสอบดำเนินการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ต้องมีการสร้างแบบจำลองให้ครอบคลุมในหลายสถานะ ในรายละเอียดคงต้องให้ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปพิจารณา การสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง คือสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมีสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. และ กทม. รวมไปถึงข้าราชการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีความรู้และการชำนาญการเรื่องนี้โดยมี วิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธานกรรมการ สภาวิศวกรเป็นที่ปรึกษา โดยจะเห็นว่าองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้ครอบคลุมผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านนี้โดยตรง ตนเชื่อว่าเมื่อผลออกมา จะสร้างความชัดเจนให้กับ โครงการนี้ได้ ว่าสาเหตุของอาคารนี้ที่ถล่มเป็นเพราะอะไร
เมื่อถามว่าขณะ อยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใช่หรือไม่ นายพงษ์นรา ระบุว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ลำดับ ในลำดับแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการคีย์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว พร้อมยอมรับว่า มีอยู่หลายขั้นตอนจึงต้องใช้เวลา และหลังจากเสร็จแล้วจะต้องมีการประชุมหารือเพราะเราต่างคนต่างทำ เพราะถ้าหากทพฃำหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอาจจะมีเรื่อง Human error เพราะการคีย์ข้อมูลต้องใช้การคีย์โดยคน เพราะฉะนั้นหากต่างคนต่างคีย์ข้อมูลเข้าไป ต้องมีการเช็คกัน และต้องมีการคุยถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ว่าจะใช้หลักใด เพื่อให้เป็นฐานเดียวกัน ก่อนที่จะประมาลเป็นผลมา และต้องดูว่าผลของแต่ละสถาบันออกมาในแนวทางเดียวกันหรือไม่ จึงออกมาเป็นผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้