POLITICS

8 องค์กรภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฏีกา ทบทวนบทบาท คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันนี้ (2 ก.พ. 66) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน องค์กรภาคประชาชน 8 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดกิจกรรมเวทีเสวนา “ขานรับข้อเสนอ ตะวัน-แบม แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” โดยมี นายเมธา มาสขาว เลขา ครป.และคณะกรรมการยอดวีรชนพฤษภา 35 นายรัษฎา มนูรัษฎา ที่ปรึกษา สสส. นายสมชาย หอมลออ ประธาน มสพ. นางสาวประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการ CrCF, นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ดำเนินรายนางสาวนัทธมน ศุภรเวทย์

ในการเสวนาพูดถึงสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ที่ไม่ได้รับการประกันตัว โดยยกกรณีที่นางสาวอรวรรณ ภู่พงศ์ (แบม) และนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) อดอาหารเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง เพราะยังเป็นเพียงผู้ต้องหาและอยู่ในระหว่างการพิพิจารณาคดีที่ต้องสันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าจำเลยไม่มีความผิด โดยได้กล่าวถึงผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ที่ตอนนี้ถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ 16 คน เป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ม.112 จำนวน 8 คน และเป็นคดีอื่น ๆ อีก 8 คน

นายสมชาย หอมลออ ประธาน มสพ. กล่าวว่า “บุคคลที่ยังเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น ยังไม่เป็นนักโทษ จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนนักโทษหรือผู้กระทำความผิดไม่ได้ ถ้าหากมีการฝากขังหรือขังระหว่างการพิจารณา ต้องไม่เหมือนกับการขังนักโทษ เพราะยังเป็นเพียงผู้ต้องหาหรือจำเลย การจับไปขังคุกและเมื่อเขาออกมาจากคุก สังคมจะตีตราว่าเขาคือนักโทษ”

สำหรับประเด็นหลักในการเสวนา มีผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกันตัวว่า แม้จะได้รับการประกันตัว ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขในการประกันตัวต่าง ๆ อาทิ การกำหนดเวลาออกจากบ้าน การบังคับสวมกำไล EM ห้ามโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุปลุกปั่น ฯ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ หากว่ากันตามจริงคนเหล่านี้ไม่ควรถูกตั้งข้อหา เพราะแค่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกับผู้มีอำนาจ บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในความคิดความเชื่อ อันเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์ ที่จะมีใครจะพรากไปหรือละเมิดไม่ได้ การมีความคิดต่างจากผู้มีอำนาจ รวมถึงการการมีความคิดที่แตกต่าวกับคนในสังคมนั้นไม่ใช่อาชญากรรม

หลังการเสวนา ได้มีการเดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังสำนักประธานศาลฏีกาเพื่อทำการยื่นหนังสือปิดผนึกต่อประธานศาลฏีกา โดยมีนายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนประธานศาลฎีกาในการรับมอบหนังสือ และนางสาวประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นตัวแทนอ่านหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ความว่า

“ตลอดระยะเวลาของการใช้สรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า เป็นกลไกเพื่อสนองนโยบายรัฐในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การปล่อยตัวชั่วคราว ถูกใช้เป็นกลไกสำคัญในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามไปกระทำการในลักษณะเดียวกันกับคดีเดิมอีก การกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานในบางช่วงเวลาร่วมกับการใส่กำไล EM การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) ร่วมกับคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่เข้มงวดกว่าอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม

การมีคำสั่งถอนประกันได้โดยง่ายเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการ ถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้ ยังสะท้อนถึงความพยายามในการเข้ามามีบทบาทรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเสียเอง ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เพราะมีองค์กรอื่นทำหน้าที่อยู่แล้ว กระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่รักษาและดำรงความยุติธรรมในสังคมอย่างเป็นอิสระ โดยอาศัยหลักกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความยุติธรรมแม้จะมีข้อพิพาทกับรัฐ หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐก็ตาม

ปรากฏว่ากรณีที่ไม่ใช่คดีการเมือง เช่นกรณีของ พ.ต.อ.หญิงวัทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 8 ภรรยานายตู้ห่าวชาวจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันของศาล แต่กลับไม่ถอนประกัน โดยอ้างว่ามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว แต่พนักงานสอบสวนมายื่นเอกสารแบบกระชั้นชิด ทำให้การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัว พ.ต.อ.หญิงวัทนารีย์ ดังกล่าว จึงเป็นเพียงคำร้องที่ประกอบการพิจารณา กรณีที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและปัญหาการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง

การถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งมนุษยธรรมโดยกระบวนการดังกล่าว นำมาสู่การอดอาหารและน้ำของตะวันและแบมเพื่อทวงถามหาความยุติธรรม และเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จนร่างกายของทั้งสองเข้าขั้นวิกฤตและสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก

พวกเราเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในการใช้ดุลยพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรม ในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน อย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมือง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนาและงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม”

เรื่อง นัสญามีย์ ดำเต๊ะ
ภาพ พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend