POLITICS

รักษาราชการเลขาฯ ป.ป.ส.หวั่นปรับเกณฑ์ผู้เสพ 10 เม็ด อาจส่งผลให้ผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น

รักษาราชการเลขาฯ ป.ป.ส. มอง ใช้เกณฑ์ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นผู้เสพ เหมาะสม หวั่นปรับเกณฑ์ผู้เสพ 10 เม็ด อาจส่งผลให้ผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น พร้อมเสนอความเห็นต่อที่ประชุม คกก.ป้องกันและปราบรามยาเสพติด

วันนี้ (1 พ.ย. 66) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ ให้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) 10 หน่วย หรือ 10 เม็ดให้อยู่ในสถานะผู้เสพสารเสพติดไม่ใช่ผู้ค้า และต้องได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วย ระบุว่า ประเด็น ที่สธ. เสนอเกณฑ์การครอบครองยาบ้า 10 เม็ดนั้น ในที่ประชุมมีการเสนอเอกสารทางวิชาการของคณะแพทย์ที่ระบุว่าการครอบครองเพียง 10 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพ เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด ซึ่งปริมาณที่ต่ำกว่า 5 เม็ดผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่ถ้าหากเสพเกินกว่า 5 เม็ดไปจนถึง 10 เม็ดผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่ายไม่สามารถควบคุมตนเองได้

ส่วนกรณีที่มีการเสพมากกว่า 10 เม็ดจะมีผลถึงขั้นเสียชีวิตฉะนั้นเมื่ออ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงมีความเห็นว่าผู้เสพน่าจะมีการใช้งานอยู่ที่ 10 เม็ดไม่เกินจากจำนวนนี้ แต่ขณะเดียวกัน ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตนเองที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน มองว่าการจัดเกณฑ์ครอบครองเพื่อเสพ 10 เม็ดโทษที่ตามมา คือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อย จะไม่เกรงกลัวต่อการพกพายาบ้า เพราะสามารถพกได้ถึง 10 เม็ด ก็ไม่ถือว่าได้รับโทษค้า

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนเองในฐานะเลขาธิการฯป.ป.ส. มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟู คู่กับการบังคับใช้กฎหมายส่วนตัวได้มีข้อเสนอว่าเกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ดซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด เพราะมองว่าการครอบครองเกินกว่า 5 เม็ดก็จะถูกลงโทษเป็นผู้ค้า ฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการที่พกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คนจะแบ่งเป็นผู้ค้าจำนวน 12.5 คน

ดังนั้น หากมีการปรับเกณฑ์การถือครองได้มากขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อการจะเพิ่มจำนวนผู้ค้ารายย่อย ซึ่งตนขอยืนยันว่า ส่วนตัวได้พิจารณาเกณฑ์จำนวนยาบ้า 5 เม็ดจากหลายองค์ประกอบ แบ่งออกเป็น 3 มิติหลักคือฝั่งของวิชาการการแพทย์ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และอนาคตที่จะต้องบูรณาการทุกฝ่าย จึงจะนำเรื่องนี้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบรามยาเสพติด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวานนี้ (31 ต.ค. 66) นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งด่วน หรือ quick win ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบรามยาเสพติดเร่งดำเนินการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยสำหรับการบำบัดนั้น จากข้อมูลที่พบว่าปัจจุบันมีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสพที่มีอาการทางจิตเวช และอาจใช้ก่อเหตุความรุนแรง 32,623 คน แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวัง สูงสุด 1963 คนกลุ่มเฝ้าระวังสูง 5,024 คนและกลุ่มเฝ้าระวังทั่วไป 25,636 คน

โดยจะนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อน เพื่อลดเงื่อนไขความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุรุนแรงกับประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดกำหนดวิธีการนำบุคคลเข้าสู่การระบบบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุข และสร้างความพร้อมให้กับชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถร่วมกับภาครัฐ ดูแลและเฝ้าระวังเหตุต่างๆได้ เช่นเดียวกับ ‘หัวโทนโมเดล’ ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยนโยบายดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินนโนบายนโยบาย’ 1 โรงพัก 1 ตำบล’ ให้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศยังได้กำหนดพื้นที่เร่งด่วนเพื่อควบคุมการลักลอบนำเข้ายาบ้าเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ จังหวัดเชียงราย 6 อำเภอ และจังหวัดนครพนม 4 อำเภอ โดยหน่วยงานความมั่นคงทั้งทางทหารตำรวจ จะร่วมกันบูรณาการ เพื่อให้การดูแลป้องกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าประเทศ และจะได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยประสานข้อมูล และจับตาความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วย

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา ปี 2564 เป็นกฎหมายที่ใช้การสาธารณสุขนำการปราบปราม ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับนี้มองผู้เสพเป็นเหยื่อเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ากระบวนการคัดกรองเข้าสู่การฟื้นฟูไม่ได้มุ่งเน้นที่การดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว ผู้เสพต้องได้รับการรักษาให้มีงานทำมีชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)

โดยผู้สื่อข่าวถามว่า ได้กำชับอะไรกับหน่วยงาน ป.ป.ส. เป็นพิเศษหรือไม่ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ค่อนข้างมีองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญของ ป.ป.ส. คือการต้องสร้างความเป็นผู้นำร่วมกับเครือข่ายภาคี และก็จะต้องนำพามวลชนทั้งประเทศให้เห็นผลอันตรายของยาเสพติด และร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะการสกัดกั้นเรื่องการลักลอบนำเข้ายาเสพติด หรือการนำเข้าสารตั้งต้น การผลิตยาเสพติด เป็นต้น ส่วนผู้ติดยาเสพติด เราก็ต้องเน้นทำความเข้าใจต่อสังคมในประเด็นผู้เสพคือผู้ป่วย ส่วนผู้จำหน่ายยาเสพติด คือ ผู้ร้าย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะต้องดำเนินการจัดการอย่างต่อเนื่องคู่ขนานกัน

Related Posts

Send this to a friend