POLITICS

‘ก้าวไกล’ ถาม ไทยรู้เห็น-เปิดฟ้าให้เมียนมาหรือไม่

‘ก้าวไกล’ ถาม ไทยรู้เห็น-เปิดฟ้าให้เมียนมาหรือไม่ หวังรัฐให้ประชาสังคมช่วยผู้หนีภัย-เปิดเจรจายุติวิกฤต

วันนี้ (1 ก.ค. 65) เวลา 11:30 น. นายมานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีปรากฏเครื่องบินรบ MIG26 ของกองทัพทหารเมียนมา บินผ่านเข้าน่านฟ้าไทย เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย. 65) เมื่อเวลา 11:30 น.

นายมานพ กล่าวว่า เครื่องบิน MIG29 ไม่ใช่เข้ามารอบเดียวในช่วงโจมตีด้วยอาวุธอากาศยานเมื่อ 11:30 น. จนทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน แต่ก่อนหน้านั้นมีการบินโฉบมาครั้งที่ 1-2 ก่อน ครั้งละ 10 นาที รวมเวลาทั้งหมด 20 นาทีก่อนจะถึงครั้งที่ 3

“พี่น้องประชาชนบอกว่า ถ้ามารอบเดียวถ่ายคลิปไม่ทันหรอกครับท่าน ส.ส. จึงอยากถามว่าในระยะเวลา 3 รอบที่รุกล้ำอธิปไตยไทยใช้เวลา 20 นาที กองทัพอากาศไทยที่ประกาศว่ามีแสนยานุภาพและศักยภาพดูแลความมั่นคงของพี่น้องประเทศนี้ ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวตั้งคำถามต่อไปว่า กองทัพเมียนมาไม่สามารถบินข้ามเขาบริเวณรัฐกะเหรี่ยงได้ จึงต้องบินอ้อมมาฝั่งไทยก่อนย้อนกลับไปโจมตี คำถามสำคัญคือไทยเปิดให้มีการบินรุกล้ำหรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ของไทยได้ไปประชุมร่วมกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ที่กรุงเนปิดอว์

“จึงสงสัยว่ากระบวนการนี้มีการรู้เห็นเป็นใจ ทำให้เครื่องบินของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยหรือไม่ ทั้งที่เป็นการรุกล้ำความมั่นคงถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับอย่างทันท่วงที ทีกรณีพี่น้องนักศึกษาแสดงความเห็นบอกเป็นภัยความมั่นคง นี่ต่างหากที่เป็นภัยความมั่นคงของจริง” นายมานพ กล่าว

ด้าน นายคำพอง เทพาคำ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเช่นกันว่า สิ่งที่บกพร่องต่อกรณีที่เกิดขึ้นคือ การแจ้งเตือนไปยังทางการเมียนมาถึงการรุกล้ำอธิปไตยไทย ตลอดจนยังไม่มีหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปตั้งจุดแจ้งเตือน และที่สำคัญการตัดสินใจนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า

นายมานพ ยังแถลงถึงกรณีผู้หนีภัยการสู้รบภายหลังจากเกิดความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ และกาญจนบุรี อย่างในบ้านวาเล่ย์ 500 คน บ้านมอเกอร์ไทยอีก 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นในภาพพี่น้องประชาชนมักเป็นเด็กและสตรี จึงเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ที่พักพิงที่ปลอดภัย หากการจัดการเป็นไปด้วยความอคติลำเอียงก็สะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติด้วย

“หากศักยภาพของหน่วยงานราชการที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่เพียงพอ ก็ควรเปิดให้เอกชน หน่วยงานภายนอก องค์การระหว่างประเทศที่เขาพร้อมช่วยเหลือ เข้าไปด้วย” นายมานพ เสนอแนะ

นอกจากนี้ นายมานพ ยังแถลงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2021 พบว่ากองทัพเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการดูแลที่พักพิงปลอดภัยชั่วคราว ทั้งที่หน่วยงานหลักที่ต้องทำคือกระทรวงมหาดไทย ในการจัดระบบแคมป์ ส่งกลับ หรือดูสถานการณ์

“กระบวนการเหล่านี้ให้ความมั่นคงเข้าไปแทรกแซง อยากเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ความเป็นคนของคนที่หนีภัย หน่วยงานจะเอาข้าวของไปส่ง ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เรียกร้องให้เกิดกระบวนการปกติในการดูแลผู่ลี้ภัยด้วย” นายมานพ กล่าว

นายมานพ ยังเสนอแนวทางการยุติการสู้รบในระยะยาวว่า ในนามประเทศไทยที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ควรมีการเสนอแนวทางเพื่อยุติความรุนแรง ผ่านการจัดเวทีเจรจาหารือทางออกวิกฤตเมียนมาด้วย

Related Posts

Send this to a friend