POLITICS

‘ชัยธวัช‘ หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ย้ำชุมนุมการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม

‘ชัยธวัช‘ หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขอทุกฝ่ายถอดหัวโขนการเมือง เปิดประตูสู่สมานฉันท์ ย้ำชุมนุมการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม

วันนี้ (1 ก.พ. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทย เสนอ

นายชัยธวัช กล่าวว่าการนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านมา มักเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ มีบางครั้งที่นิรโทษกรรมให้กับประชาชน หนึ่งครั้งนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และอีกหนึ่งครั้งที่เคยนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาประชาชนที่ถูกใส่ร้ายและมาตรา 112 จากเหตุการณ์ 6 ตุลา

ส่วนการนิรโทษกรรมในครั้งนี้มีความสำคัญ ตนเองเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกที่มองเป้าหมายตรงกันว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ต้องมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้กับสังคมไทย ซึ่งเราอยู่ในวังวนนี้เกือบ 2 ทศวรรษ แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายหรือกระบวนการเดียวที่จะยุติหรือคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม แต่ตนและพรรคก้าวไกลการนิรโทษกรรมเป็นประตูบานแรกสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง และแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่

นายชัยธวัช กล่าวว่า เวลามีการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ต้องยอมรับว่ามีคนไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าประเทศไทยไม่มีคดีการเมือง ทุกคดีที่เกิดขึ้นเกิด มาจากการไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิด อนาคตจะไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายอีกต่อไป

“แต่ผมอยากให้นึกภาพให้ดี ๆ ปฎิเสธไม่ได้ว่าคดีทางการเมือง ไม่ควรมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรม หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะเชื่อในพลังความบริสุทธิ์ที่ถูกต้อง ผลักดันความคิด ความฝัน และสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าดีต่ออนาคตของประเทศของเรา ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะไม่แสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ที่ต่อต้านความอยุติธรรม ต่อต้านการรัฐประหาร หรือปกป้องประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะมีความคิดไม่ตรงที่รัฐหรือหน่วยความมั่นคงไม่อนุญาตให้คิด”

นายชัยธวัช มองว่าคดีการเมืองเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงมีทั้งมิติให้อภัยต่อกัน และการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนจากความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัช เห็นด้วยที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ถ้าเรายึดเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่าทำให้ที่เกิดขึ้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง ไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้ง หรือสร้างความสมานฉันท์ ไม่สามารถนำไปสู่การถอดสลักระเบิดในสังคมไทยได้ในอนาคต ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเราขนาดนี้ยังไม่ปกติ พื้นที่ในระบบรัฐสภาของเราดูจะจำกัดลงเรื่อยๆ สูญเสียโอกาสในการที่จะเป็นพื้นที่แสวงหาข้อยุติความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สูญเสียโอกาสที่จะเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่จะหาข้อยุติความขัดแย้ง

“แต่ยังมีโอกาสอยู่ ผมหวังว่าท่ามกลางพื้นที่ที่จำกัดลงเรื่อย ๆ พวกเราจะร่วมมือกันถอดหัวโขนทางการเมืองออก หันหน้าพูดคุยกัน เพื่อใช้พื้นที่แห่งนี้ สภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งโดยประชาชน ใช้โอกาส พูดคุยกัน แสวงหาทางออกร่วมกันในการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อเป็นประตูบานแรกในการเปลี่ยนการเมืองของความเกลียดชัง เปลี่ยนการเมืองที่เกิดจากความเคียดแค้นชิงชัง ไม่เข้าใจกัน แล้วนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมดในการสร้างการเมืองแห่งความรัก สร้างความเข้าอกเข้าใจต่อกัน ความปรารถนาดีร่วมกัน เพื่อให้พวกเรามีระบบการเมือง มีระเบียบสังคมที่พวกเราอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะไม่มีทางที่จะเห็นด้วยตรงกันทุกเรื่องทั้งหมด” นายชัยธวัช กล่าว

หลังสมาชิกอภิปรายกันพอสมควรแล้ว ที่ประชุมสภาเห็นชอบให้ตั้ง คณะ กมธ .วิสามัญศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 35 คน โดยสัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน ตัวแทนพรรคการเมือง 27 คน เช่น นางอังคณา นีละไพจิตร, นายวุฒิสาร ตันไชย, นายยุทธพร อิสรชัย เป็นต้น โดยใช้เวลาศึกษา 60 วัน

Related Posts

Send this to a friend