POLITICS

กมธ.สวัสดิการสังคม เสนอปรับเพิ่มเบี้ยบำนาญพื้นฐาน

กมธ.สวัสดิการสังคม เสนอปรับเพิ่มเบี้ยบำนาญพื้นฐาน ชี้ สามารถทำได้ทันที พร้อมยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ สร้างความมั่นคง

วันนี้ (1 ก.พ. 67) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม และ นางสาว วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวประเด็นการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานของประชาชน ที่อาคารรัฐสภา

นายณัฐชาระบุว่าประเทศไทยกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี 2566 ที่ผ่านมา และเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ในอีก 10 ปี ข้างหน้า (ปี2576) ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 28 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ประเทศไทยมีการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพเพียงแค่การจ่ายเบี้ยยังชีพ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการยังชีพที่ยังไม่ครอบคลุมมากนัก

อัตราการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุไม่มีการปรับมายาวนานมากกว่า 10 ปี แล้ว จนกระทั่งปี 2566 เบี้ยยังชีพยังคงจ่ายในอัตราเดิม ซึ่งคู่ขนานไปกับค่าครองชีพ และเส้นความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี กมธ.สวัสดิการสังคม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คำนึงถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียม เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ จึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการติดตามการวางระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน มีนางสาววรรณวิภา ไม้สน เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ จากผลการพิจารณาศึกษาดังกล่าว กมธ.สวัสดิการสังคม มีแนวคิดในการปรับการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐาน ดังนี้

(1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 1,200 บาท

(2) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 2,000 บาท

(3) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาท

กมธ.สวัสดิการสังคม มีมติเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” และเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป

รวมทั้ง ยังได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2556 ในมาตรา 11 (11) เปลี่ยนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชนโดยมีหน่วยงานทำหน้าที่ในการรับผิดชอบภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่ต้องเพิ่มอัตรากำลัง รวมทั้งมีกองทุนผู้สูงอายุ ที่เป็นแหล่งเงินงบประมาณที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับอยู่แล้ว

จึงสามารถดำเนินการเพื่อรองรับระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนได้ทันที และเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567 กมธ.สวัสดิการสังคม จึงได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่…) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิม ในมาตรา 11 (11) ให้สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมาธิการเรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน

Related Posts

Send this to a friend