POLITICS

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยันไม่เข้าร่วม คกก.สมานฉันท์ เหตุคู่ขัดแย้งจริงไม่เข้าร่วม หยุดคุกคาม-จับกุม-แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประชาธิปไตยแท้จริง

วันนี้ (22 ธ.ค. 63) นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ได้ประชุมปรึกษาหารือกันในประเด็นการเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ และแถลงต่อสื่อมวลชนว่ายังยืนยันมติเดิมที่เคยประกาศไปแล้ว คือการยังไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ของสภาผู้แทนราษฎร เน้นย้ำว่าการปรองดองต้องเริ่มที่รัฐบาล รัฐบาลต้องจริงใจ ความยุติธรรม และสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ที่ผ่านมายังไม่เห็นบรรยากาศเหล่านั้น มีการใช้ความไม่เป็นธรรมโดยการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง จึงได้ออกแถลงการณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดังนี้

แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง คณะกรรมการสมานฉันท์

การดำเนินงานของรัฐบาลในปัจจุบันไม่สามารถนำไปสู่ทางออกของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมิได้ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าตั้งใจจริงกับการแก้ไขปัญหา รวมทั้งยังใช้กฎหมายที่ทำให้ฝ่ายเห็นต่างที่เป็นคู่ขัดแย้งรู้สึกว่ารัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดตน ซึ่งถือเป็นการทำลายบรรยากาศการร่วมมือและปรองดอง และรัฐบาลยังไม่เปิดใจรับฟังที่จะแสวงหาจุดร่วมเพื่อช่วยกันคลี่คลายปัญหา เท่ากับรัฐบาลได้ปิดกั้นหนทางการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
 
ความพยายามของประธานรัฐสภาที่พยายามจะสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงไม่เข้าร่วม คณะกรรมการชุดนี้จึงไม่สามารถเป็นความหวัง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้
 
คกก.สมานฉันท์ ที่จะสามารถเป็นทางออกได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากคู่ขัดแย้งต้องเห็นความสำคัญ และทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินใจที่จะเข้าร่วม เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการเริ่มต้นกระบวนการปรองดอง ทั้งสองฝ่ายต้องพร้อมที่จะนำความขัดแย้ง และความจริงที่เป็นประเด็นปัญหาความขัดแย้งมาคุยกันบนโต๊ะเจรจาโดยมีคนกลางเข้าร่วม ภายใต้บรรยากาศแห่งการปรองดองสมานฉันท์ 
 
ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงใน คกก.สมานฉันท์ชุดนี้
 
“พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอยืนยันว่า จะไม่เข้าร่วม คกก.สมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม”
 
แนวทางแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ที่เหมาะสมที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำให้สังคมยอมรับว่ามีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยคือกลไกสำคัญที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสร้างให้เกิด “ความเชื่อมั่น” และคือหนทางสำคัญในการคลี่คลายทุกปัญหาของสังคมไทย
 
รัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยเร่งหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และยอมรับให้เกิดกระบวนการเลือก ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อใจว่า พวกตนไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ และต้องการถอยออกจากอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตย เพื่ออนาคตด้วยมือของประชาชนเอง
22 ธันวาคม 2563

Related Posts

Send this to a friend