POLITICS

ทีมเศรษฐกิจ ปชป. ฟันธง ปีหน้าเศรษฐกิจ ฟื้นแน่ หวั่นการเมืองไม่นิ่งอาจส่งผลกระทบ

วานนี้ (16 ธ.ค. 62) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดให้มีกิจกรรมแถลงข่าวเชิงเสวนาภายใต้หัวข้อ “มุมมองเศรษฐกิจ 2563 ฟุบหรือฟื้น?”

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มองว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้ามีสามประเด็นหลักคือ อัตราการว่างงาน ปัจจัยทางด้านนโยบายการเมือง และความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยควรเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และปรับรูปแบบหลักสูตรที่เน้นป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ตอบโจทย์ความต้องการในยุคปัจจุบันที่มีการนำหุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ ส่วนมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแม้เป็นเรื่องที่ทําได้ แต่ระยะยาวควรเน้นการขยายตลาดไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ จีนและอินเดีย และต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมกับการสร้างความโปร่งใสผ่านหลักนิติธรรมและสร้างมาตรฐานธรรมาภิบาล ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ภาคเอกชนควรใช้โอกาสนี้หาพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่มาเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันหรือซื้อเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มมูลค่าให้กิจการ

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ มองเรื่องการลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง หรือเมกะโปรเจคท์ว่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเห็นว่า การลงทุนใน EEC รัฐควรลงทุนเองแบบ 100% เพื่อประหยัดงบประมาณ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ในขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงควรเปิดโอกาสให้ประเทศจีนมาร่วมลงทุน เพื่อช่วยดึงเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ และดึงนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามา ที่สำคัญ คือ รัฐจะต้องทำงานอย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า และมีความโปร่งใส รวมถึงตัดสินใจลงทุนบนโมเดลที่เหมาะสมกับแต่ละโครงการ

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรทํามากเกินควรเพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว สิ่งที่ภาครัฐ ต้องทำไปควบคู่กันคือ มาตรการการลงทุนของภาครัฐ (Investment หรือ I) การใช้จ่ายของภาครัฐ ( Government Expenditure หรือ G) และการบริโภคในประเทศ (Consumption หรือ C) โดยส่วนตัวเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังไปต่อได้ ไม่ฟุบอย่างแน่นอน แต่อาจไม่โตแบบหวือหวา

ในขณะที่นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ มองว่า ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ในปีหน้าจะไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบกับต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เศรษฐกิจในปีหน้าจึงยังคงไม่ฟุบอย่างที่หลายคนคาดการณ์ อย่างไรก็ตามนโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญตที่จะส่งผลต่อราคาพลังงาน และควรให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการใส่ใจเรื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ ผอ.สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย มองว่าการทำนโยบายทางด้านเศรษฐกิจท้ายที่สุดต้องวางเป้าหมายไปสู่ความยั่งยืน การพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และนโยบายทางด้านการศึกษาจะเข้ามามีส่วนในการช่วยพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการผลิตแรงงานฝีมือป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากในปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรมีสัดส่วนลดลงซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลง จึงต้องเร่งสร้างแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ

Related Posts

Send this to a friend