LIFESTYLE

EMS Training ออกกำลังกายแนวใหม่ ใช้เวลาน้อย เร่งการทำงานกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า

เมื่อพูดถึง EMS คนอาจนึกถึงการส่งไปรษณีย์ด่วน หรือการให้บริการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Emergency Medical Services) แต่ EMS Training หมายถึงการบริหารร่างกาย หรือการเทรนนิ่งโดยใช้ EMS เข้าช่วย ซึ่งเป็นการบริหารร่างกายที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก

EMS หรือ Electrical Muscle Stimulation หรือที่ทางการแพทย์มักเรียกว่า Electromyostimulation เป็นการกระตุ้นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำงานโดยตรงในการกระตุ้นเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neurons) ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรวดเร็วและในความถี่ที่มากกว่าปกติ โดยไม่ทำให้ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) ซึ่งประกอบด้วยสมอง และไขสันหลัง ทำงานหนัก หรือเครียด รวมถึงไม่ทำให้ข้อต่อต่างๆ ต้องทำงานหนักอีกด้วย ที่สำคัญร่างกายของเราจะไม่รู้เลยว่าเป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า จึงไม่รบกวนการทำงานตามปกติของร่างกายแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ EMS ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์สำหรับการทำกายภาพบำบัด การกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีความอ่อนแรง บวม เจ็บปวด หรือไม่สามารถขยับได้ แต่ในภายหลังถูกปรับมาใช้กับบริการในสถาบันลดน้ำหนัก และกระชับสัดส่วนควบคู่ไปกับการนวดสลายไขมัน หรือการใช้อุปกรณ์อื่นๆ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารร่างกาย หรือเรียกว่า EMS Training เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารร่างกาย

การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ EMS ในระดับสากล

ในต่างประเทศได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเครื่อง EMS เอาไว้หลายชิ้น เช่น การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Strength and Conditioning ได้สรุปว่า การใช้ EMS เป็นทางเลือกในการออกกำลังเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และการทำงานของกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีประโยชน์ในการลดเวลาที่ใช้ โดยเฉพาะหากใช้ EMS กับทุกจุดของร่างกาย ซึ่งผู้ทำการศึกษายังได้ชี้ว่าการทำงานของ EMS มีประโยชน์ทั้งต่อนักกีฬา และคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาโดยตรง

นอกจากการศึกษาเกี่ยวกับผลด้านประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายแล้ว ยังมีการศึกษาการทำงานของ EMS กับการลดปริมาณไขมันในร่างกายอีกด้วย โดยได้ทำการศึกษากับเด็กสาว 22 คน โดยได้ใช้การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าที่บริเวณหน้าท้องเป็นเวลา 30 นาทีต่อครั้ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 6 สัปดาห์ต่อเนื่อง และได้ข้อสรุปว่า การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่สูงนี้อาจจะมีประโยชน์ในการลดไขมันหน้าท้องของเด็กสาวได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่ระบุถึงประโยชน์ของการใช้ EMS ในการลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในผู้ป่วย ใช้ในการวอร์มอัพก่อนการออกกำลังกายอีกด้วย เพิ่มการต้านทานและความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมไปจนถึงการฟื้นฟูกล้ามเนื้ออีกด้วย EMS จึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการนำ EMS มาใช้กับการ Training หรือการบริหารร่างกายมากขึ้น โดยมักนำมาใช้กับ ช่วงก่อน และหลังการออกกำลัง เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม และการทำร่างกายให้เย็นลง (Warm-up และ Cool-down) ช่วงก่อนและหลังการออกกำลัง การบริหารร่างกาย หรือเล่นกีฬา ใช้กับการออกกำลังแบบไอโซเมตริก (Isometric) หรือการออกกำลังกายโดยการเกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่ เช่นการทำท่า Plank การทำท่า Lunge ค้างไว้ หรือการวิดพื้นค้างไว้ + EMS รวมไปจนถึงการพักผ่อนกล้ามเนื้อ + EMS เช่นการใช้ในช่วงที่มีความบาดเจ็บ หรืออยู่ในช่วงพักฟื้นเพื่อให้กล้ามเนื้อยังเหมือนมีการใช้งานอยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่าควรใช้ EMS ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะหลังการใช้งาน 1 ครั้งจะยังมีผลต่อเนื่องกับร่างกายไปอีกประมาณ 48 ชั่วโมง (after burn effect)

EMS Training เทรนด์การบริหารร่างกายแบบใหม่

อิทธิมนต์ วีระมงคลกุล ผู้บริหาร Pulse Bangkok ฟิตเนสบริหารร่างกายแบบ EMS Training อธิบายว่า รูปแบบของ Pulse EMS Training จะเป็นการสวมชุดพิเศษที่ออกแบบมาให้มีเซ็นเซอร์ และจุดที่ปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ตรงกับกล้ามเนื้อมัดหลักของร่างกาย โดยชุดจะใช้น้ำเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่จุดปล่อยคลื่นไฟฟ้าสัมผัส ซึ่งเมื่อกระแสไฟฟ้าถูกปล่อยเข้าไปกระตุ้นตามกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ขณะที่ผู้ใส่ชุดพิเศษกำลังเทรน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกล้ามเนื้อจะหดตัวจากที่ผู้เทรนเกร็งกล้ามเนื้อมัดที่ต้องใช้งานส่วนหนึ่ง และกล้ามเนื้อเกิดการหด และเกร็งตัวจากเครื่อง EMS อีกส่วนหนึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ถูกกระตุ้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการเกร็งโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว และเทรนเนอร์สามารถปรับความหนักเบาของกระแสไฟฟ้าในแต่ละจุดได้จากเครื่องคอนโทรล ซึ่งเปรียบเสมือนการเปลี่ยนไปใช้น้ำหนักที่หนักขึ้น หรือเบาลงระหว่างการเทรน แต่ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ชุดพิเศษที่ออกแบบมาให้มีเซ็นเซอร์ และจุดที่ปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ตรงกับกล้ามเนื้อมัดหลักของร่างกาย

“การบริหารร่างกายแบบนี้ เป็นที่นิยมในต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในแถบยุโรป และอเมริกา โดยมีเซเลบริตี้ชื่อดังของฮอลลีวูดหลายคน รวมถึงนักกีฬาจำนวนมากที่ใช้ EMS Training เพราะให้ผลได้ดีกว่าการออกกำลังกายทั่วไปโดยใช้เวลาที่น้อยกว่า โดยใช้เวลาบริหารร่างกายเพียง 20 นาที จะสามารถเผาผลาญได้ถึงประมาณ 500 แคลอรี หรือเทียบเท่าการบริหารปกติในเวลา 90 นาที ทำให้ประหยัดเวลามาก และแนะนำให้ทำเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อมีเวลาให้กล้ามเนื้อได้พักและฟื้นฟู โดยระหว่างวันที่พัก ก็ยังมี after-burn effect จากการบริหารต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อย 48 ชั่วโมง และเหมาะกับทุกสภาพความฟิต ไม่ว่าจะเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือคนที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ออกกำลัง หรือบริหารด้วยท่าบางท่าไม่ได้ เพราะใช้การกระตุ้นด้วย EMS เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายและเข้าถึงมัดกล้ามเนื้อที่อาจจะไม่ค่อยได้ใช้งาน”

“EMS Training ที่ Pulse เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อต่อจากการยกน้ำหนัก และสามารถกระตุ้นได้จนถึงมัดกล้ามเนื้อที่อาจจะไม่ได้ใช้งานประจำหรือบริหารปกติไม่ถึง ผู้ที่ต้องการลดไขมันด้วยการสร้างโปรแกรมที่ทั้งพัฒนากล้ามเนื้อ และคาร์ดิโอไปพร้อมๆ กัน ผู้ที่ต้องการปรับสมดุลของร่างกายและรูปร่าง ลดอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ด้วยการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อด้านที่อ่อนแอกว่าหรือใช้งานน้อยกว่า รวมไปจนถึงผู้ที่ต้องการกระชับสัดส่วน โดยเรามีเทรนเนอร์ชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการออกแบบโปรแกรมให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการมีบริการนักโภชนาการให้คำแนะนำในการปรับอาหารให้เหมาะสมตามเป้าหมายและสภาวะสุขภาพของผู้ใช้งานแต่ละคนอีกด้วย” อิทธิมนต์ กล่าว

อิทธิมนต์ วีระมงคลกุล ผู้บริหาร Pulse Bangkok

ในส่วนของความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ อิทธิมนต์ ย้ำว่าอุปกรณ์ และชุดของ Pulse มาจาก XBody ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในยุโรป ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ผ่านมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO13485 เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยได้รับรางวัลมากมายตั้งแต่ปี 2010 ปัจจุบันมีให้บริการใน 55 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ใช้บริการแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคหัวใจ โรคลมชัก เนื้องอก หรือโรคมะเร็ง ไม่แนะนำให้บริหารร่างกายด้วย EMS Training เช่นเดียวกับการออกกำลังกายหรือบริหารร่างกายรูปแบบอื่นๆ

มองมุมต่างโดยนักวิชาการเกี่ยวกับการใช้ EMS ในการบริหารร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการถึงการใช้ EMS กับการบริหารร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานกับกลุ่มผู้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์อื่นๆ ในร่างกาย เช่นเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ได้ การวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Applied Physiology ยังได้แสดงให้เห็นว่าการใช้ EMS ยังมีความเสี่ยงในการทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด หากใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณที่สูงเกินไป เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Arthroplasty ที่ระบุว่าการใช้ EMS ด้วยระดับความรุนแรงที่มากไปอาจทำให้เกิดผิวหนังไหม้ได้ นำมาสู่ข้อแนะนำที่ว่าหากรู้สึกว่าหากรู้สึกเจ็บปวดให้ลดระดับความแรงลงทันที และควรได้รับการควบคุมที่ดี

ดร.สเตฟาน เน็คท์ หัวหน้าแพทย์ ประสาทวิทยา คลินิคบำบัด เซ็นต์เมาริเชียส ในเยอรมนี กล่าวว่า หากใช้งานอย่างผิดๆ หรือไม่ได้รับการควบคุมที่ดี EMS อาจทำให้กล้ามเนื้อเสียหายได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นทำลายไตจากการเพิ่มขึ้นของระดับเอนไซม์ครีเอทีน ไคเนสได้ โดย ดร.สเตฟาน แนะนำว่า EMS Training เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ผู้ที่จะเข้ารับการบริหารด้วยการใช้ EMS ควบคู่ไปด้วย ควรมั่นใจว่าไม่ได้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ หรือตับ และควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

อ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22067247

https://www.scientificamerican.com/article/how-to-get-fit-using-electrical-muscle-stimulation-ems/

https://www.jstage.jst.go.jp/article/jpts/27/1/27_jpts-2014-277/_pdf

https://www.quickanddirtytips.com/health-fitness/exercise/how-to-get-fit-using-electrical-muscle-stimulation-ems?page=2

https://www.livestrong.com/article/153338-muscle-stimulation-dangers/

https://www.dw.com/en/ems-training-promises-bulging-muscles-but-is-it-helpful-or-dangerous/a-42258410

Related Posts

Send this to a friend