LIFESTYLE

ชวนคนรักงานดีไอวาย Upcycle นิตยสาร-หนังสือพิมพ์เก่า-กระดาษรียูสออฟฟิศ เป็นของใช้สุดว้าวในบ้าน

ใครเห็นเป็นต้องยกนิ้วให้กับความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะคนรักงานดีไอวาย ที่นำกระดาษซึ่งผ่านการใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์เก่า หรือแม้แต่กระดาษรียูสในออฟฟิศสำนักงาน ที่ใช้แล้วทั้งสองด้าน มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นของใช้สารพัดประโยชน์ในครัวเรือนได้ ด้วยการอัพไซเคิล (Upcycle) หรือลงมือแปรงโฉมกระดาษ ที่หมดประโยชน์เหล่านี้ ให้เป็นสิ่งของชิ้นใหม่ที่ดูดี และสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญยังมีสไตล์ไม่เหมือนใคร แม้ว่าหลายคนจะเลือกวิธีการรีไซเคิล ด้วยการขายหรือบริจาคหนังสือและนิตยสารเก่าให้กับ หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจ เพื่อนำไปใช้เพิ่มพูนทักษะความรู้ให้นักเรียนในชนบทห่างไกลก็ตาม หรือบริจาคให้ รพ. เพื่อให้ผู้ที่ไปหาหมอ นั่งอ่านฆ่าเวลาขณะรอตรวจ แต่เพื่อเอาใจคนที่ชื่นชอบงานฝีมือนั้น

วรรณประภา ตุงคะสมิต นักดีไอวาย ให้ข้อมูลกับ The Reporters เกี่ยวกับงานดีไอวายนิตยสาร หนังสือพิมพ์เก่า หรือแม้แต่กระดาษรีไซเคิล ในออฟฟิศสำนักงาน ที่ผ่านการใช้เพียงหน้าเดียว หรือแม้แต่สองด้าน ก็สามารถนำมาสร้างสรรค์ ให้เป็นของใช้ในบ้านสุดเก๋ได้ เพียงแค่มีใจรักในการประดิดประดอย หรือเห็นคุณค่าของกระดาษมือสองเหล่านี้ เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันนั้น ศิลปินที่ทำงานศิลปะหลายคน ต่อยอดกระดาษให้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ โดยนำไปมิกซ์แอนด์แมทซ์ร่วมกับวัสดุอื่นๆ จนกระทั่งกลายเป็นผลงานชิ้นใหม่ ที่สามารถจำหน่ายหรือทำเป็นธุรกิจได้ เช่น เครื่องประดับจากกระดาษ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

วรรณประภา ให้ข้อมูลว่า “เราสามารถเปลี่ยนกระดาษ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ให้เป็นสิ่งของได้อีกหลายอย่าง ซึ่งกระดาษในที่นี้หมายถึง กระดาษที่ได้จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์เก่า หรือแม้แต่กระดาษ A4 ที่เราใช้ไปด้านเดียวหรือสองด้าน ก็สามารถนำมาดีไอวายได้ เท่าที่เคยเห็นและเคยสัมผัสนั้น คือการนำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่เราอ่านแล้วมา พับถุงหิ้วกระดาษ เพื่อใส่ของ ที่สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้ถุงกระดาษ ด้วยการซ้อนกระดาษหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 2 ชั้น เพื่อให้ถุงหิ้วกระดาษรักษ์โลกของเราแข็งแรงยิ่งขึ้น และหากต้องการเพิ่มความสวยงาม ก็สามารถเลือกลวดลาย หรือบริเวณที่มีตัวหนังสือโดดเด่นในหนังสือพิมพ์เก่า มาเป็นส่วนประกอบหลัก ในการพับได้เช่นกัน ก็จะทำให้ถุงกระดาษของเรา แปลกตาไม่เหมือนใคร”

วรรณประภา บอกอีกว่านอกจากนี้ ยังสามารถนำหนังสือพิมพ์เก่ามาพับ ให้เป็น “ช่อดอกกุหลาบ” สำหรับถือไปงานปาร์ตี้ในธีมต่างๆ ที่นอกจากไม่ต้องซื้อหาแล้ว ยังช่วยทำให้การแต่งตัว ไปงานเลี้ยงของเราดูมีสไตล์มากยิ่งขึ้น หรือจะเย็บกระดาษหนังสือพิมพ์ให้เป็น “ถ้วยขนาดเล็ก” เพื่อเพาะต้นอ่อนพืช ก่อนที่จะนำไปปลูกลงดินก็ได้เช่นกัน หรือหากบ้านไหนที่มีลูกเล็ก ก็สามารถตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็น “ผ้ากันเปื้อน” ที่ใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง สำหรับน้องๆที่ทำงานศิลปะ หรือทำกิจกรรมระบายสี ที่เสี่ยงต่อการเลอะเทอะ หรือป้องกันสีเปื้อนเสื้อผ้า หรือแม้แต่การ “ประดับตกแต่งสุมดโน้ต” ด้วยการตัดวลีประโยคและรูปภาพที่สวยงาม ที่ได้จากหนังสือพิมพ์เก่า ก็ถือเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์ของใช้งานประจำวัน ให้ดูดียิ่งขึ้น กระทั่งทำ “ที่คั้นกระดาษรูปขนนก” ก็ช่วยแปรงโฉมหนังสือพิมพ์ ที่เหลือจากการอ่าน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกระดาษเหลือใช้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักการอ่านหนังสือ

“นอกจากนี้ประโยชน์กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า และกระดาษรียูสในสำนักงาน ยังสามารถนำมาทำเป็นกระปุกออมสินเปเปอร์มาเช่ โดยใช้วัสดุอื่นร่วมด้วย เช่น การทากาวลาเท็กซ์เพื่อช่วยให้กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษรียูสที่ผ่านการแช่น้ำ เพื่อให้ติดแน่นหรือยึดเกาะ ลูกโป่งหรือขวดที่ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง หรือโครงสร้างรูปทรง หลังจากที่นำมาแปะอยู่บนวัสดุเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อให้กระปุกออมสินเปเปอร์มาเช่ให้มีรูปแบบต่างๆ และเพื่อความคงทนนั้น ก็สามารถแปะกระดาษหนังสือพิมพ์แช่น้ำ พร้อมด้วยการทากาวลาเท็กซ์ซ้ำลงไปอีกรอบ โดยทิ้งไว้สักครู่จนกระปุกออมสินแห้ง และดึงวัสดุที่เป็นโครงสร้างออกแล้ว ก็ตามด้วยการทาสีทับ ก็จะได้กระปุกออมสินงานแฮนด์ที่ทำเองใช้เอง หรือจะมอบให้ผู้อื่นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ จากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าได้เป็นอย่างคุ้มค่า”

ต่อยอดกระดาษมือสอง สู่ชิ้นงานที่ทันสมัย สร้างอาชีพและช่วยเพิ่มรายได้

นักดีไอวาย เผยว่า นอกจากนี้ยังสามารถนำกระดาษรียูสต่างๆ มาต่อยอดให้เป็นเครื่องประดับจากกระดาษ เช่น สร้อยคอกระดาษ หรือพูดง่ายๆว่าเป็นสารตั้งต้น ที่ผสมผสานกับวัสดุอื่น เช่น สารที่ช่วยเคลือบความคงทนให้กระดาษ ซึ่งปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ที่สามารถสร้างธุรกิจ ให้กับศิลปินด้านงานศิลปะหลายคน เช่น เครื่องประดับจากกระดาษ ที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นต้น

“ปัจจุบันในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีการส่งเสริมให้นักศึกษา ที่เรียนเกี่ยวกับสาขาการออกแบบ นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาอัพไซเคิล ให้เป็นชุดเดรสหรือกระเป๋าที่สวยงาม ซึ่งไม่ใช่แค่ผลงานการออกแบบของนักศึกษา ในแง่ของการปลูกฝังเรื่องการรักษ์โลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้ผู้เรียน สามารถใช้กระดาษต่อยอดไปสู่ผลงานอื่นๆที่สร้างสรรค์ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยที่เริ่มจากการดีไอวายผลงาน ที่ทำจากกระดาษก่อน กระทั่งนำไปผสมกับวัสดุชิ้นอื่นๆ เพื่อให้ผลิตผลงานออกมาดูดี และน่าใช้มากยิ่งขึ้น โดยมีต้นแบบมาจากกระดาษเหลือใช้”

เปลี่ยนนิตยสารเล่มเก่าเป็นของใช้รักษ์โลก เติมสีสันในบ้านให้สวยงาม

“กระดาษนิตยสารทำอะไรได้บ้างนั้น เนื่องจากกระดาษกลุ่มนี้จะมีความแข็ง และมีความมันวาว กว่ากระดาษหนังสือพิมพ์ รวมถึงมีสีสันที่สวยงามจากภาพที่อยู่ในเล่ม ก็สามารถนำมาตัดให้เป็นเส้นยาว และ สานให้เป็นตะกร้าใส่ลูกอม ใบเล็กๆ หรือดีไซน์ให้เป็น มูลี่ ที่สามารถใช้งานได้จริง ที่สำคัญเมื่อทำเสร็จแล้วจะมีความสวยงาม เนื่องจากสีสันของกระดาษ ซึ่งวิธีการทำเริ่มจากการตัดกระดาษ ให้เป็นเส้นยาว จากนั้นม้วนให้เป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาร้อยเข้ากับเส้นเอ็นขนาดยาว ให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ และนำไปผูกเข้ากับราว หรือเชือกที่เตรียมไว้อีกเส้นหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปแขวนกับราวประตูน่าต่าง ก็จะได้มูลี่แฮนด์เมดที่สดใสน่ารัก และสร้างสีสันในบ้านให้น่าอยู่ ที่สำคัญเป็นงานฝีมือที่ไม่ยุ่งยาก และซับซ้อนมากเกินไปค่ะ เด็กก็ทำได้ผู้ใหญ่ก็ทำได้เช่นกัน” นักดีไอวาย กล่าว

วรรณประภา บอกอีกว่านอกจากนี้การ ตกแต่งกรอบรูป โดยการพับกระดาษนิตยสาร ให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆกัน จากนั้นมาเรียงซ้อนกันในแนวตั้ง และทากาวที่บริเวณฐานของกระดาษที่พับ จากนั้นแปะลงไปที่กรอบรูปในแนวตั้งตรง ก็จะช่วยให้กรอบรูปสวยงามมีมิติมากขึ้น

กระดาษมือสองมีประโยชน์ คุณเลือกได้ทั้งขาย-บริจาค หรือต่อยอดเป็นงานฝีมือ

นักดีไอวาย เผยว่า “ถ้าถามถึงความจำเป็น ในการนำกระดาษมือสองเหล่านี้ มาทำงานดีไอวายอย่างเดียวหรือไม่นั้น บัวบอกเลยว่าเราไม่จำเป็น เพราะงานแฮนด์เมด ควรเริ่มจากความชอบและใจรัก พูดง่ายๆว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบงานดีไอวาย ดังนั้นหากบ้านเราไม่ได้ขาดเหลืออะไร ก็สามารถนำกระดาษเหล่านี้ไปขายต่อ เพื่อนำไปสู่กระบวนรีไซเคิล เป็นกระดาษเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ สามารถบริจาคให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่อยากได้หนังสือมือสองจริงๆ เพื่อนำไปให้เด็กได้อ่านได้เรียนรู้ แต่หากเป็นกลุ่มที่ชอบทำงานดีไอวายอยู่แล้ว บัวมองว่ามันจะช่วยฝึกสกิล ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ให้เพิ่มมากขึ้นได้ ที่สำคัญถ้าเราชอบงานประดิดประดอยมากๆ แน่นอนว่าทักษะที่เริ่มต้น จากกระดาษมือสองเหล่านี้ สามารถทำเป็นธุรกิจที่เลี้ยงชีพได้ค่ะ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเริ่มต้นจากการเล่น หรือออกแบบจากกระดาษเหลือใช้ก่อนค่ะ”

งานดีไวอายจากกระดาษ ไม่เพียงแค่ช่วยรักษ์โลก แต่ทว่ายังสามารถต่อยอด และสร้างสรรค์ไปสู่ชิ้นงานอื่นที่ทันสมัย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับของชิ้นนั้นๆ ได้…จริงไหมคะ

Related Posts

Send this to a friend