INVESTMENT

ทีเอ็มบีธนชาต – DITP จัดเสวนา โอกาสใหม่เอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดโลก 2023

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ร่วมมือกับพันธมิตร โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดเสวนาเสริมความรู้แก่เอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจส่งออก-นำเข้าไทย อย่างครบถ้วน รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การส่งออก-นำเข้า รวมถึงตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจในปีนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

นางสาวสุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า “ธนาคารพร้อมช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออก-นำเข้าของไทย ซึ่งมักประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งความรู้ ในการทำการค้าระหว่างประเทศ ที่มีกฎระเบียบมากมาย การจ่ายและรับเงินกับคู่ค้า ระหว่างประเทศมีความซับซ้อน อีกทั้งมีความเสี่ยงต้นทุนเพิ่มจากความผันผวนของค่าเงิน เพื่อให้สามารถค้าขายระหว่างประเทศ ได้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับพันธมิตร อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อน ลูกค้าเอสเอ็มอีให้เติบโต พร้อมเดินหน้าสู่การทำตลาดต่างประเทศ ผ่านการจัดงานเสวนา “โอกาสใหม่เอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดโลก 2023” ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่เจาะลึกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การส่งออก โอกาสและตลาดใหม่สำหรับเอสเอ็มอี พร้อมด้วยแนวทางบริหารความเสี่ยง และนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการจากภาครัฐ จากผู้บริหารที่มากประสบการณ์ ทั้งจากทางธนาคารและ DITP”

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี กล่าวว่า “ปัจจุบันตัวเลขการส่งออกและนำเข้า ดีกว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน คือการส่งออกของไทยปี 2565 ที่เติบโต 17% สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาเข้มแข็ง แม้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง ส่วนปี 2566 การเติบโตของส่งออก คาดว่าจะเป็นแบบชะลอตัว โดยแนะโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ การเลือกเจาะตลาดที่เป็นม้านอกสายตา อย่างอินเดีย และตลาดที่ไม่ใหญ่ แต่เริ่มมีความสำคัญ อย่างตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจของไทย เนื่องจากมีความนิยมชมชอบสินค้าไทยอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร ที่มีการนำเข้าจากไทยมากถึง 6.2% แต่ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง ได้แก่ ต้นทุนที่สูงขึ้น แรงงานขาดแคลนหากเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง”

ขณะที่ นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาด และธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “เทรนด์การส่งออกที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ได้แก่

1.ความตื่นตัวเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผลจากสงคราม ส่งผลให้ทั่วโลกต่างตื่นตัวเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นโอกาสของไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรของไทยขยายตัวได้ถึง 8.82%

2.แนวโน้มค่าระวางเรือลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2565 และมีทิศทางลดลงต่อไปอีกในปี 2566 เนื่องจากอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ ในธุรกิจส่งออกที่ไม่ต้องแย่งตู้คอนเทนเนอร์กันเอง อีกทั้งยังมีผู้ให้บริการเป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

3.จีนผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค และการผลิตในจีนจะกลับมาฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น ที่จะเติบโตตาม

4.กระแส BCG (Bio-Circular-Green) ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุน โดยนำวัตถุดิบใกล้ตัวมาต่อยอด เป็นสินค้าส่งออก ตามแนวทาง BCG สร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก

นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีเครื่องมือสนับสนุนผู้ประกอบการ ผ่าน SMEs Pro-active by DITP ที่ช่วยสนับสนุนและลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ เพื่อให้เอสเอ็มอีก้าวออกไปทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง

ด้านนางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีทีบี กล่าวว่า “ในปีนี้ผู้ประกอบการที่ทำการค้า ระหว่างประเทศควรจับตา 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจ 2.ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (FX) และทิศทางแนวโน้มดอกเบี้ย 3.การเปิดการท่องเที่ยวของจีน เพราะจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทผันผวนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ประเทศคู่ค้าหลักของไทย เกือบ 40-50% เป็นประเทศในเอเชีย แต่สกุลเงินที่ผู้ประกอบการใช้ซื้อขายกัน ยังเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 80% ซึ่งจากสถิติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนสูงมาก หากผู้ประกอบการตั้งรับไม่ทัน ย่อมมีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นได้”

“ทางธนาคาร จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการ ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าขายในสัดส่วนที่ลดลง และปิดความเสี่ยงด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ในการซื้อขายกันมากขึ้น เช่น สกุลเงินของเอเชีย ซึ่งปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท มีความผันผวนน้อยกว่า ทำให้บริหารต้นทุนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการไทย ยังมีการใช้สกุลเงินที่หลากหลาย สำหรับทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกกับหลายประเทศ”

“ทีเอ็มบีธนชาต จึงเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียว ที่พัฒนาบัญชีเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ การค้าระหว่างประเทศ นั่นคือ ttb multi-currency account หรือ บัญชีบริหารหลายสกุลเงิน โดยบัญชีเดียวสามารถรองรับได้มากถึง 11 สกุลเงิน ผู้ประกอบการสามารถซื้อ-ขาย-รับ-จ่ายได้สะดวกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งทำธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ บนแพลตฟอร์ม ttb business one สามารถเข้าถึงได้ทุกอุปกรณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง”

Related Posts

Send this to a friend