INVESTMENT

ผู้ถือหุ้นกู้ STARK ประชุมระดมความเห็น เร่งตั้งคณะทำงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ผู้ถือหุ้นกู้ STARK ประชุมระดมความเห็น เร่งตั้งคณะทำงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังผิดนัดชำระหนี้ หวังหน่วยงานกำกับดูแลทำงานเชิงรุก หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย

วันนี้ (17 ส.ค. 66) กลุ่มนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ Stark ประกาศรวมพลังนัดประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อหาทางเยียวยาความเสียหายจากกรณีหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมดิเอเมอรัลด์ โดยการประชุมเริ่มต้นด้วยการเสวนาในหัวข้อ “หุ้นกู้ STARK รวมพลังเดินหน้าแก้ปัญหา” ดำเนินการรายโดย ชารีฎา พรหมโยธี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ สำนักข่าว efinanceThai

นายบูรพา สงวนวงศ์ รองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เปิดเผยว่า STARK เข้ามาในตลาดหุ้นด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Back-door Listing) ในปี 2562 จากนั้นก็ดำเนินกิจการปกติ มีความผิดปกติตรงที่กำไรโตทุกไตรมาส แต่ไม่เคยจ่ายเงินปันผล ส่วนไส้ในของระบบการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบทุกไตรมาส เราในฐานะสื่อจึงสอบถามไปยังผู้บริหาร เหตุใด AR DAYS (ระยะเวลาหลังเกิดยอดขายแล้วจะเก็บเงินได้) มีระยะเวลานานทั้ง 180 วัน 220 วันและ 260 วัน ซึ่งผู้บริหารตอบกลับมาว่าเพราะเขาค้าขายกับรัฐวิสาหกิจและภาครัฐ

หลายคนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ STARK เพราะมีบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในปี 2565 อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังนำ STARK มาคำนวณในดัชนี SET100 ทำให้ดูน่าเชื่อถือ ทำให้เราไม่สามารถนำเสนอข่าวในมุมการโจมตีได้

พร้อมตั้งคำถามต่อประเด็นธุรกรรมทางการเงินที่นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ได้ทยอยถอนเงินที่เปิดเป็นบัญชีส่วนตัวไว้กับธนาคาร เครดิต สวิส “Credit Suisse” ว่าธนาคาร เครดิต สวิสมีส่วนเปิดทางให้นายชนินทร์ ยักย้ายถ่ายเทเงินหรือไม่ มีสิทธิอายัดบัญชีนายชนินทร์หรือไม่ ทีมกฎหมายเราหยิบยกมาตรา 267 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาอธิบายว่าก่อนที่ธนาคาร เครดิต สวิสจะอายัดบัญชีของนายชนินทร์ จะต้องมีคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กว่าการกล่าวโทษ และขออำนาจสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) อายัดทรัพย์สินใช้เวลานาน

สำหรับการฟื้นฟูกิจการของ STARK ในฐานะ Holding Company แทบจะไม่มีประโยชน์ ฟื้นฟูกิจการในชั้น Phelps Dodge น่าจะสำคัญที่สุด ซึ่งกระบวนการนี้สะดุดลงเพราะ ก.ล.ต.มีคำสั่งกล่าวโทษ และอายัดทรัพย์สินบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

เราควรต้องถอดบทเรียนเคสหุ้นกู้ STARK หุ้นกู้ทุกรุ่นของ STARK ระบุว่าจำหน่ายให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ และสถาบัน แต่ในกรณีนี้มีการจำหน่ายให้ผู้ลงทุนรายย่อยด้วย การรวบรวมพยานหลักฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงเพื่อมาชดใช้ค่าเสียหาย เท่าที่มีการสอบถามไปยัง DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำนวนคดียังอ่อนอยู่มาก

ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน CFP กล่าวว่าจะมีการนัดไต่สวนว่าเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ในวันที่ 4 กันยายนนี้ ทั้งนี้การฟ้องร้องค่าเสียหายทำได้ 2 วิธี วิธีแรกการฟ้องคดีแพ่งสามัญ ต่างคนต่างฟ้องใครฟ้องชนะจะได้รับชำระค่าเสียหาย ซึ่งกระบวนการที่ค่อนข้างช้า วิธีที่สองคือ คดีกลุ่ม จะมีความรวดเร็วกว่า เพราะมีตัวแทนเป็นผู้ฟ้องแทนผู้เสียหายทุกคน หากชนะคดีผู้ที่ไม่ได้ร่วมฟ้องก็มีสิทธิร่วมรับชำระเงินได้ แต่ต้องมั่นใจว่าตัวแทนกลุ่มมีความรู้ความสามารถเพียงพอ สามารถรักษาผลประโยชน์ของทุกคนได้ พร้อมทั้งเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ หากบริษัทใดทำความผิดต้องเสียค่าปรับ และนำค่าปรับเหล่านั้นมาชดใช้ให้กับผู้เสียหาย

รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประเด็นที่ทำให้เรื่องราวใหญ่โตคือการตกแต่งบัญชีสร้างยอดขายที่ไม่เป็นจริง ทำให้ลูกหนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลูกหนี้ปลอม ๆ โดยแรงจูงใจในการตกแต่งบัญชีน่าจะมาจากแรงกดดันในการทำให้ราคาหุ้นเติบโตไปเรื่อย ๆ โดยปกติบริษัทที่ตกแต่งบัญชีทำให้กำไรสูงขึ้น เขาจะคาดหวังว่าผลประกอบการในอนาคต พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะการตกแต่งกำไรที่ทำบัญชีให้เนียน เพื่อไม่ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบได้ มักจะเอาเงินออกและนำเงินกลับเข้ามาในบริษัท

สิ่งที่ควรทำเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน บริษัทผู้สอบบัญชีต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล หน่วยงานกำกับดูแลต้องทำหน้าที่เชิงรุกมากขึ้น มีเครื่องมือในการดักจับความผิดปกติ เชื่อว่าหากดักจับบริษัทที่ตกแต่งบัญชีได้เร็ว ก็จะหยุดกระบวนการสร้างความเสียหายได้

ทั้งนี้หลังจบเสวนา จะเป็นการประชุมปิดเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้ Stark และตัวแทนจากผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ซึ่งจะประชุมหารือแนวทางการเรียกร้องความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายมีส่วนร่วมแสดงความเห็นได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เสนอชื่อและรับรองคณะทำงานอาสาสมัครหรือเลือกตั้งกรรมการตัวแทนกลุ่ม เพื่อรับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาตัดสินใจดำเนินการร่วมกันในหมู่ผู้ถือหุ้นกู้และเป็นตัวแทนในการประสานงานติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานและบุคคลอื่น

Related Posts

Send this to a friend