INVESTMENT

KBank Private Banking ชี้ 2 จุดเปลี่ยน กระทบทรัพย์สินครอบครัว แนะเตรียมพร้อมรับมือ

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ผู้นำบริการที่ปรึกษา ด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวเจ้าแรกในไทย จัดงานสัมมนา Family Wealth Planning Outlook 2023 ในหัวข้อ “รับมือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และภาษีที่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของครอบครัว” ชี้ 2 จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ และภาษีที่ดินในปี 2566 ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมแนะนำให้เจ้าของทรัพย์สินตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัว และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย รวมถึงความเสี่ยงด้านภาระภาษี ที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “นโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่าง สรรพากรไทยและรัฐบาลชาติอื่นๆ ภายใต้ความตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS กำลังจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยในเดือนกันยายน กรมสรรพากรไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล กับหน่วยงานในต่างประเทศ และจะส่งข้อมูลภายในเดือนมิถุนายนของทุกๆปี”

“ต่อจากนี้เป็นต้นไป ในทางกลับกันสรรพากรในต่างประเทศ ก็มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล และนำส่งข้อมูลกลับมาให้กรมสรรพากรไทยเช่นกัน โดยในปัจจุบันจะเป็นระบบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการร้องขอ (Automatic Exchange) และเป็นการแลกเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูง เกิดความตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวมากขึ้น มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทางการเงินแบบอัตโนมัติ หรือ CRS ตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566 ได้กำหนดเงื่อนไขของการรายงานไว้ ดังนี้”

ผู้มีหน้าที่รายงาน ได้แก่ 1.สถาบันการเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 2.บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น 4.ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5.ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 6.ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามกฎหมาย ว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา 7.ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ตามประกาศของคณะปฏิวัติฯ 8.ทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

สำหรับบัญชีที่จะถูกรายงาน ได้แก่ 1.บัญชีรับฝากเงิน 2.บัญชีรับฝากสินทรัพย์ 3.บัญชีเพื่อการลงทุน
4.กรมธรรม์ประกันชีวิต

ส่วนข้อมูลที่จะถูกรายงาน ได้แก่ 1.ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2.วัน เดือน ปีเกิด และสถานที่เกิด(กรณีบุคคลธรรมดา) 3.เลขที่บัญชี 4.ยอดเงินในบัญชีหรือมูลค่าเงินสด ในกรมธรรม์ ดอกเบี้ยที่ได้รับหรือผลประโยชน์อื่น / จำนวนคงเหลือหรือมูลค่าของบัญชี ณ วันสุดท้ายของปีปฏิทิน

“KBank Private Banking มองว่าการบังคับใช้ ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี ไม่ว่าจะเป็น การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างสรรพากรไทย และรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) รวมถึงรัฐบาลชาติอื่นๆ (CRS) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีในองค์รวม ทั้งภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลสำหรับบ้านที่มีธุรกิจในต่างประเทศ หรือมีการจัดโครงสร้าง การถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ (Trust) รวมถึงภาษีมรดกที่เป็นมรดก ที่อยู่ในต่างประเทศด้วย สำหรับในอนาคต KBank Private Banking คาดว่าการเรียกเก็บข้อมูลทางภาษี จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น การทำธุรกรรมเงินสดจะลดน้อยลง นอกจากนี้การเก็บภาษีในอนาคตจะใช้ระบบ AI มาพัฒนาการเก็บภาษี ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ได้ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น KBank Private Banking มองว่าลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูง ต้องตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัว และต้องการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ กับความเสี่ยงด้านภาษีมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ด้าน นางกรกช อรรถสกุลชัย Chief – Non Capital Market Solution Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “แม้ปีนี้จะเข้าสู่ปีที่ 4 ที่ภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง แต่ผู้ครอบครองที่ดินยังสับสน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆปี โดยในปี 2566 สิ่งที่กระทบต่อการคำนวณภาษี ก็คือการเปลี่ยนราคาประเมินที่ดิน โดยกรมธนารักษ์ระหว่างปี 2566 -2569 ซึ่ง 50% ของพื้นที่ที่ราคาประเมินไม่เปลี่ยนแปลง แต่มี 39 % ของพื้นที่ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น และ 11% ของพื้นที่ที่ราคาประเมินปรับลดลง โดยราคาประเมินที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก คือที่ดินในบริเวณที่ราคาประเมิน กับราคาตลาดมีความแตกต่างกันมาก”

“KBank Private Banking มองว่าภาษีที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากฐานภาษีและอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การลดหย่อนจากการนำที่ดิน มาใช้ประโยชน์ลดลง ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า KBank Private Banking แนะนำให้เจ้าของที่ดินพิจารณาใช้ประโยชน์ที่ดิน 1.เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ 2.ใช้ประโยชน์เชิงเกษตรเพื่อลดอัตราภาษี 3.ใช้ประโยชน์สาธารณะโดยการร่วมกับภาครัฐเพื่อยกเว้นภาษี เป็นต้น”

“นอกจากนี้ KBank Private Banking ยังนำเสนอบริการให้คำปรึกษา และบริหารจัดการในการแปลงทรัพย์สินที่ดินมาเป็นสินเชื่อ เพื่อการลงทุนโดยมีอสังหาริมทรัพย์ เป็นหลักประกัน (Land Loan for Investment) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทน โดยการลงทุนที่ KBank Private Banking แนะนำมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างผลตอบแทน ที่สูงกว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และเพียงพอในการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน มีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้ถือครองที่ดิน และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับตลาด ซึ่งไม่ต่างกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีทั้งผลตอบแทนที่น่าสนใจ และความเสี่ยงที่ต้องระวัง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้รอบด้าน หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างการเติบโต ให้กับสินทรัพย์ที่มี และไม่ติดกับดักการลงทุน”

Related Posts

Send this to a friend