INVESTMENT

อินฟอร์มา บีโอไอ จับมือไทยซับคอน จัด 3 งานใหญ่

อินฟอร์มา บีโอไอ จับมือ ไทยซับคอน ตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจ ด้านการจัดแสดงสินค้าในภูมิภาค จัด 3 งานใหญ่ “อินเตอร์แมค ซับคอนไทยแลนด์ และพลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023” เพื่อหนุนภาคการผลิตแบบครบวงจร เสริมแกร่งผู้ประกอบการ และดันไทยสู่การเป็นฮับอุตสาหกรรม การผลิตรวมเครื่องจักรกล ที่ทันสมัยในภูมิภาค ซึ่งทั้ง 3 งานเริ่มจัดแล้วในวันนี้ -13 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของไทย ถือเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ได้รับการยอมรับในตลาดสากล โดยทาง บีโอไอ ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาส ให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจัดงาน ซับคอน ไทยแลนด์ 2023 ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ในการบรรลุเป้าหมาย โดยที่ผ่านมา งานซับคอน ไทยแลนด์ ถือเป็นเวทีธุรกิจที่สำคัญในระดับภูมิภาค ที่รวบรวมผู้ผลิตผู้ซื้อ และซัพพลายเออร์ในภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มารวมไว้ในงานเดียว ทั้งนี้งานดังกล่าวถือเป็นก้าวที่สำคัญ ในการยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้มีโอกาสพบปะ และเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก”

“การจัดงานซับคอน ไทยแลนด์ เติบโตขึ้นทุกปี ในปีนี้มีบริษัทผู้ซื้อและผู้ผลิตชั้นนำกว่า 500 รายจาก 10 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม และ ไอร์แลนด์เหนือ ไฮไลต์ที่สำคัญคือ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจกว่า 4,000 คู่ และทำธุรกรรมทางธุรกิจได้กว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีโซน BUYERS’ VILLAGE ร่วมจัดแสดงชิ้นส่วนที่ต้องการจัดซื้อ รวมถึงให้ข้อมูลและนโยบาย การจัดซื้อจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า ทั้งนี้ภายในงานยังได้พบกับ BUYERS’ SHOWCASE โซนจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า จาก นิสสัน มอเตอร์ และ เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี (เอ็มจี) อีกทั้งยังร่วมกับ บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ จัดกิจกรรม “BYD’s SOURCING DAY” เพื่อจัดซื้อจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในงาน และในงานยังมีสัมมนาให้ความรู้เพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมไทยสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เราเชื่อมั่นว่าเวทีจะเติบโตและสามารถสร้างโอกาส ในวงกว้างให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีสากล”

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 มีทิศทางที่ดีจากปัจจัยอุปสงค์ ทั้งในและต่างประเทศ เศรษฐกิจโดยรวมมีสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัว การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรับเศรษฐกิจใหม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนโยบาย BCG Model ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยงานอินเตอร์แมค 2023 ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในเสริมสร้างศักยภาพ ให้กับภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในมิติอุตสาหกรรมต่างๆ

ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรม และการรับช่วงการผลิตระดับนานาชาติชั้นนำของอาเซียน จัดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 39 ปี ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วน และที่สำคัญถือเป็นเวทีระดับภูมิภาค โดยอินเตอร์แมคในปีนี้จั ดขึ้นภายใต้แนวคิด “Leading Beyond Success in the Industrial Manufacturing” หรือ “อีกขั้นของความสำเร็จ ครบทุกอุตสาหกรรมการผลิต” มีผู้ประกอบการกว่า 1,500 แบรนด์ จาก 45 ประเทศ และ 4 พาวิเลียนจาก จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สิงค์โปร์ มีแบรนด์ชั้นนำโดยมีผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ร่วมนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ (Machining Center) และ แมชชีน ทูลส์ (Tooling) ศูนย์รวมเทคโนโลยีงานโลหะแผ่น (Sheet Metal) ที่รวมเทคโนโลยีไว้มากที่สุดของประเทศ

รวมถึงโซนกิจกรรมพิเศษ อาทิ IAR PAVILION ที่รวมทุกโซลูชั่น เพื่อการลงทุนระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ และ showcase จัดแสดงการพิมพ์ 3 มิติ โซนกิจกรรมจากหน่วยงานสำคัญต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ โซนให้ความรู้ด้านการจดทะเบียนเครื่องจักร และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ พร้อมด้วยงานสัมมนาหัวข้อที่สำคัญต่างๆ เช่น INTERMACH Forum, Future Automotive และสัมมนาอื่นๆ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะต่อยอดไอเดียทางธุรกิจ เพิ่มเติมองค์ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรม

“เราเชื่อมั่นว่า การจัด 3 งานใหญ่ข้างต้น จะเป็นเวทีที่เชื่อมโอกาส ให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพ เก็บเกี่ยวองค์ความรู้และได้จับคู่ธุรกิจ ซึ่งสำคัญอย่างมากในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

Related Posts

Send this to a friend