ชาวบางกลอยประกาศยอมตาย ร้องขอพิสูจน์สิทธิในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อกลับไปทำกินในผืนดินบรรพบุรุษ
ชาวบางกลอยประกาศยอมตาย ร้องขอกระบวนการพิสูจน์สิทธิในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อกลับไปทำกินในผืนดินบรรพบุรุษ เปิดใจการเจรจาไม่เป็นตามที่คาดหวัง ขณะที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ทส. ลงพื้นที่บางกลอยเจรจาชาวบ้าน เสนอปรับปรุงระบบน้ำ-คุณภาพดิน ให้พี่น้องทำกินได้ นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีย้ำชัดให้แก้ปัญหาอย่างดีที่สุด ไม่ใช้ความรุนแรง
วันนี้ (25 ก.พ. 64) เวลา 10:15 น. ณ ศาลาพอละจี หมู่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นายจงคล้าย วงพงศธร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น.สเนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าเจรจากับตัวแทนชาวบ้านที่ขึ้นไปยังที่ทำกินเดิม บางกลอยบน โดยเริ่มจากการซักประวัติว่าแต่ละคนนั้นมีเชื้อสายของบรรพบุรุษสายใด การประกอบอาชีพ การศึกษา ปัญหาในการทำกิน เรื่องน้ำ ที่ดินในการประกอบอาชีพอย่างไร
ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าที่ดินที่มีไม่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกพืช และหลายคนไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จัดสรรให้ การลงมาอยู่ที่โป่งลึก-บางกลอย จึงลำบากและทำให้วิถีชีวิตของชาติพันธุ์เปลี่ยนไปอย่างมาก วิถีไร่หมุนเวียนไม่เกิดขึ้น เยาวชนรุ่นหลังในชุมชนไม่เคยได้สัมผัสวิถีของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ
นายสุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวกับผู้ตรวจฯ ว่า ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกป่าใหม่ แต่ไปทำการเกษตรในพื้นที่ที่เคยทำมาอยู่ก่อนแล้ว มีร่องรอยการทำกิน และในหมู่บ้านมีคนไม่ได้กลับขึ้นไปทั้งหมด ขอให้คนที่ประสงค์จะที่อยู่ตรงนี้มีที่ดินทำกินได้
นายสุชาติ เปิดเผยว่า พะตีหน่อแอะ มีมิ บุตรชายปู่คออี้ ฝากข้อความมาจากบางกลอยบน ว่า ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ในยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร ทำให้ไฟฉาย แผงโซลาร์เซลล์ รั้ว พังและของหายไป ช่วงที่ผ่านมามีการปฏิบัติภารกิจ ทำให้ไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขอให้หยุดปฏิบัติการ รวมถึงเรียกร้องให้สื่อบางสำนักหยุดชี้นำให้พูดเรื่องที่ดินครอบครัวละ 15 ไร่ หรือมีรวม 5,000 ไร่ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินทำกิน จากนักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชน อยากให้หาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มาก่อน
นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวกับชาวบ้านว่า วันนี้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้บูรณาการทุกหน่วยงานมาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องบางกลอยแล้ว เช่น เรื่องขาดแคลนน้ำ ส่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำมาสำรวจพื้นที่ และจะมีการเจาะสำรวจชั้นดินด้วย
“ที่ดินเดิมเราจะทำให้ปลูกพืชได้มากขึ้น ทำกินได้มากขึ้น เรื่องเมื่อ 20 กว่าปีก่อนคงย้อนกลับไปไม่ได้อีกแล้ว เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว จะช่วยทำให้พื้นที่ตรงนี้ดีขึ้น” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า วันนี้ผู้บริหารของกรมทรัพกรน้ำ และกรมทรัพยากรที่ดิน ได้เดินทางมาด้วย เจ้าหน้าที่พร้อมจะทำงานแบบบูรณาการเพื่อทำให้บ้านบางกลอยสามารถทำกินในที่ดินปัจจุบันได้
จากนั้นมีหญิงชาวบ้านบางกลอย ชูเหรียญชาวเขา กลางวงเจรจา ยืนยันว่าบรรพบุรุษของตนอยู่ในบางกลอยบนมานานแล้ว อยู่อย่างมีความสุขไม่เคยต้องลำบากมากขนาดนี้ ทนอยู่พื้นที่นี้ (บ้านบางกลอยในปัจจุบัน) มามากกว่า 20 ปี ลำบากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน
“ไม่ว่าจะอย่างไรเราขอกลับไปตายบนแผ่นดินเกิด ใช้ชีวิตแบบมีความสุขดีกว่า” ชาวบ้านกล่าว
นายจงคล้าย วงพงศธร หัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ กล่าวว่า วันนี้ได้พูดคุยกับคนที่ขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน เพื่อทำให้ฐานข้อมูลตรงกันและตรงตามความเป็นจริง จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดไปประกอบกับรายงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ที่ทางกระทรวงฯ แต่งตั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย หาข้อเท็จจริงว่ามีประชาชนกี่ครอบครัวที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีแล้วไม่สามารถทำดินได้เพราะขาดน้ำและแร่ธาตุในดิน ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีการกำชับมาว่าให้แก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด ให้ที่ดินทุกแปลงสามารถทำกินได้โดยเร็วที่สุด วันนี้ท่านปลัดกระทรวงฯ ได้ส่งตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำมาตรวจสอบพื้นที่แล้ว
สำหรับข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านบางส่วนที่อพยพกลับไปที่บางกลอยบน นายจงคล้าย ย้ำว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่าอนั้นจะต้องพิจารณาผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ต่อไป ในขณะนี้ปัญหาที่จะแก้ได้เลยคือเรื่องที่ดินทำกิน และสภาพพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ดำเนินการให้ใช้ได้ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมกำลังจับตายุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทส.จะอธิบายอย่างไร นายจงคล้าย กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดว่าเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน แต่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด จากปัญหาที่คาราคาชัง 25 ปี สังเกตได้เรามีโรงเรียน เด็กๆ หลายคนจบก็ไปทำงานกับโครงการปิดทองหลังพระ อุทยานก็มีลูกชาวบ้านหลายที่ไปทำงานด้วย
ชาวบ้านคนหนึ่งเปิดใจกับ The Reporters หลังเวทีการเจรจาสิ้นสุดลงว่า การเจรจาในวันนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะความต้องการของชาวบ้านคือการได้กลับไปยังผืนดินของบรรพบุรุษ ส่วนข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ในวันนี้ว่าจะมีการจัดระบบน้ำและปรับปรุงดินให้เพาะปลูกได้ ชาวบ้านบอกว่าหากทำได้ในอนาคตก็จะดี แต่ตอนนี้ยังไม่ปักใจเชื่อคำพูดของเจ้าหน้าที่ เพราะได้ยินคำพูดลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2539 และขอเรียกร้องถึงภาครัฐให้จัดการให้พื้นที่บางกลอยปัจจุบันสามารถอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างอุดมสมบูรณ์เพื่อให้ใช้ชีวิตตามวิถีของชาวกะเหรี่ยงได้ รวมถึงอนุญาตให้ชาวบ้านที่ต้องการกลับไปอยู่ในผืนดืนของบรรพบุรุษ เพราะชาวบ้านขึ้นไปก็ไม่ได้ไปถางป่าเพิ่มแต่ไปทำไร่ในพื้นที่ไร่ซากของบรรพบุรุษ
ชาวบ้านบางกลอย 1 ใน 4 ที่เดินเท้ามาจากบางกลอยบนร่วมเจรจาครั้งนี้ สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจเดินออกมาจากวงเจรจาเพราะ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาพูดถึงถึงปัญหาหลักในการเจรจาครั้งนี้ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม กลับพูดแต่เรื่องอื่น ไม่ได้คุยเรื่องนี้ที่รับปากว่าจะเจรจา มาถึงก็พูดแต่เรื่องขาดน้ำ ดินไม่ดี ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้อง จึงตัดสินใจออกจากห้องเวทีเจรจา
“ตอนนี้มี 36 ครอบครัวที่ยังอยู่ข้างบน ถ้าตกลงอุทยานยอมให้เราอยู่ใจแผ่นดิน จะมีขึ้นไปมากกว่านี้ คิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงใช้ยุทธการ เพราะตรงนั้นคือบ้านของเรา ผมกลัวแต่อยากอยู่ เราให้กำลังใจกัน ถ้าโดนจับก็โดนหมด มีเด็กด้วย ยืนยันถ้าโดนยิงทิ้งก็คงจะยอมโดนยิงกันหมด พ่อแม่พวกเราอยู่กันมาตั้งนาน ป่าก็ยังอยู่ แม่น้ำก็ยังดี ถ้าพวกเราอยู่ไม่รักษาป่าคงหมดไปนานแล้ว” ชาวบ้านบางกลอย กล่าว
สำหรับข้อเสนอ 7 ข้อเรียกร้องของชาวบางกลอย ได้แก่
1.ชาวบ้านบางกลอย ยืนยันว่าต้องการอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยอยู่มาก่อน
2.คนที่ไม่มีความประสงค์จะกลับขึ้นไป ต้องได้รับการจัดสรรที่ดินให้สามารถทำกินได้
3. ปฎิบัติการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 มีการเกระทำจากเจ้าหน้าที่ทำให้สิ่งของเสียหาย เช่น ไฟฉาย แผ่นโซลาร์เซลล์
4.ให้เจ้าหน้าที่ หยุดปฎิบัติการต่าง ๆ ในขณะที่มีคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากระทรวงโดยตรง
5.ให้สื่อหรือเจ้าหน้าที่ หยุดชี้นำให้ชาวบ้านและหยุดกล่าวหาว่าชาวบ้านไม่ใช่คน
6.ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์โดยมีทั้ง หน่วยงานรัฐและนักวิชาการมรส่วนร่วมเรื่องไร่หมุนเวียน
7.ชาวบ้านจะรอ จนกว่าคณจะทำงานที่ถูกส่งมาจาก กระทรวงเพื่อหาข้อยุติ ร่วมกับคนกลาง