HUMANITY

UNHCR เปิดวงคุยเล่าประสบการณ์จากผู้ที่เคยลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย

UNHCR จัดมื้ออาหารกลางวันจากบ้านเกิดผู้ลี้ภัย เปิดวงคุยเล่าประสบการณ์จากผู้ที่เคยลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ชวนเปิดประสบการณ์อาหารกลางวันกับเมนูฉุกเฉินจากบ้านเกิดผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และความรุนแรง ร่วมพูดคุยกับบุคคลที่เข้าไปสัมผัสชีวิตผู้ลี้ภัยในพื้นที่ร่วมกับ UNHCR

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ในประเทศบังคลาเทศ เลบานอน ทูร์เคีย ยูกันดา รวันดา และ โคลอมเบีย ผู้ลี้ภัยในห้วงเวลาที่เธอทำงาน เป็นภาพที่สังคมอาจรังเกียจ และไม่ได้รับการยอมรับ โดยยกตัวอย่างการลงพื้นที่ทำข่าวชาวโรฮิงญา รู้สึกเสียใจที่ ณ ขณะนั้นถูกกระแสสังคมโจมตี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองทำข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคม และตัดสินใจเดินทางไปที่รัฐยะไข่ เพราะการจะทำให้คนรู้จักผู้ลี้ภัย จะต้องเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบอกว่า “ผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะชาติใดไม่แตกต่างกัน” สิ่งที่พวกเขาต้องการมีเพียง “ความปลอดภัย และการมีชีวิตรอด”

“ภาพหนึ่งที่เป็นความทรงจำคือ ภาพที่ได้จับมือกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ก่อนพวกเขาออกเรือไป เป็นแรงบันดาลใจให้เดินทางไปทำข่าวผู้ลี้ภัยในที่อื่น ๆ และทำให้คิดอยู่เสมอว่า เราไม่ได้เป็นแค่นักข่าว แต่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ”

การลงพื้นที่ไปยังรวันดา ทำให้เห็นเป็นภาพผู้ลี้ภัยที่ไม่เหมือนกับที่อื่น พบเด็ก 2 คนเข็นจักรยาน มาพร้อมกับถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ และไก่ ที่อาจเป็นสัตว์เลี้ยงที่พวกเขารัก และกลายเป็นอาหารประทังชีวิตระหว่างเดินทางด้วย

ทำไมเราจึงต้องนำเสนอปัญหาผู้ลี้ภัย เพราะเกิดสงคราม และมีผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องที่เราสามารถช่วยเหลือกันได้ข้ามพรมแดน เราไม่ได้ทำข่าวเพียงเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทำข่าวเพื่อความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

โหน่ง ปณิธิ จันทะยาสาคร เชฟเฉพาะกิจ เจ้าของบริษัทโฆษณา ชาวนา และอาสาสมัครเพื่อสังคม ผู้รังสรรค์มื้ออาหาร “Emergency Cuisine by refugee kitchen” เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในตุรกี และค่ายผู้ลี้ภัยเด็กในเลบานอน ซึ่งลี้ภัยจากสงครามซีเรียนับ 2,000 คน ทำให้เธอรู้สึกว่าโลกความจริงเป็นอย่างไร แม้เรื่องสงครามอาจจะดูไกลตัว แต่ความหดหู่ และความสูญเสียมันยิ่งใหญ่ จึงเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตให้เธอตั้งเป้าหมายว่า จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น

เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในโคลอมเบีย พบหญิงลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาตัดเส้นผมขาย รุนแรงที่สุดคือการขายอวัยวะ มีเหตุอาชญากรรม และค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังพบเด็กชายคนหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพ ได้รับนมที่มีสารยิปซัม และมีเวลาชีวิตเหลือเพียง 1 เดือน ชี้ให้เห็นว่า ความยากลำบากใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก ความท้าทายคือ ความเร่งด่วน กฎหมายที่อาจล้ำเส้น การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม และทุนการช่วยเหลือ

ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่มีรัฐใดในโลกที่จัดการภาวะฉุกเฉินได้ทันที เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รัฐต้องทำให้คนที่เปราะบางสามารถดูแลตนเองในระยะสั้นได้ ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

แม้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร จะให้สิทธิการรักษาโควิด-19 กับผู้ที่ไม่มีสถานะ หรือบัตรประชาชน ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่รู้จัก และไม่มีข้อมูลผู้ลี้ภัยเขตเมืองเหล่านี้ ที่มีประมาณ 4,000-5,000 คน ถึงเวลาที่ต้องนิยามคำว่า “ผู้ลี้ภัยเมือง” และศึกษาตัวบทกฎหมายที่อยู่ในอำนาจ เพื่อสร้างระบบบางอย่างรองรับ

เพลงชเล จันทร์โสม ผู้จัดการด้านความยั่งยืน บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เสื้อผ้าเด็กมีพลังในการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมายูนิโคล่ มอบเงินทุน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเสื้อผ้า 200,000 ตัว ให้ผู้ลี้ภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หน้ากากอนามัย 3 ล้านชิ้น เพื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก พร้อมออกคอลเลกชั่น “PEACE FOR ALL” บริจาครายได้จากการจำหน่ายเสื้อให้ UNHCR

เรื่อง : ณัฐพร สร้อยจำปา
ภาพ : ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์

Related Posts

Send this to a friend