HUMANITY

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ เรียกร้องภาครัฐ แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ เรียกร้องภาครัฐ แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบ ลดการค้าแรงงานเถื่อน และสกัดนายหน้า-ข้าราชการฉ้อโกงเรียกรับเงิน

วันนี้ (15 ธ.ค. 65) นาย อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day 2022) ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในงานมีการเสวนา “ เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเสวนา พร้อมกันนี้ นายแม็กซิมิลเลียน พอตเลอร์ หัวหน้าแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและการบูรณาการทางสังคมองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดกว้าง (การจ้างงานที่เป็นธรรม) เชื่อมโยง (การจัดหางานอย่างมีจริยธรรม) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

นายอดิศร กล่าวว่า “จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่า ที่มีปัญหาทางการเมืองภายใน ไม่เอื้อต่อการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากเทียบก่อนและหลังการระบาดของโควิด เฉพาะช่วงเดือนต.ค.2565 พบแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึงประมาณ 160,000 คน จากแรงงานข้ามชาติ ที่ขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีมากถึง 1,876,945 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 2,438,794 คน”

“เห็นได้จากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาล มีนโยบายเปิดจดทะเบียน และดึงแรงงานข้ามชาติที่หลุดเข้าระบบถึง 4 ครั้ง และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนิน การของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ ออกไปอีกมากกว่า 10 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่าระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล้มเหลว ล่าช้าเปิดช่องแสวงหาประโยชน์”

“ถ้าหากจะประเมินการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพโยกย้ายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านพบว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยนั้น ถอยหลังและสอบตกและนำไปสู่ 4 ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดระบบ ,พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ,รัฐบาลยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า,ขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ,และมาตรการการจัดการยังส่งผลให้การคอรัปชั่น และเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาประโยชน์ ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ”

“ทั้งนี้ข้อเสนอสำคัญสำหรับการ บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพของรัฐบาลไทย ต้องการให้มีการทบทวนแนวทาง และระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียน และขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปตามเงื่อนไขข้อจำกัด จัดระบบการดำเนินการที่ง่าย เอื้อต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติเข้าอยู่ระบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันการหลุดจากระบบของแรงงานข้ามชาติ เช่น มีมาตราการผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานนำเข้า MoU

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพม่า ที่ครบวาระการจ้างงานตามกฎหมาย ยังสามารถทำงานในประเทศไทย ได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ จะเอื้อต่อการดำเนินมากขึ้น เร่งรัดการจัดระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำระบบรับเรื่องร้องเรียน ที่มีประสิทธิภาพและลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ ที่แสวงหาประโยชน์จากข้อจำกัดของนโยบาย และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการผู้อพยพ เพื่อการบริหารจัดการระยะยาว”

ขณะที่ นายแฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า “สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ภาครัฐดำเนินการล่าช้า โดยล่าสุดมติครม. 5 ก.ค.เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินการที่ล่าช้าทำให้แรงงานถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อนำแรงงานไปข้อขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเอกสารติดตัวเป็นสำเนาใบขอขึ้นทะเบียน สำเนาใบเสร็จ เป็นต้น แต่เอกสารเหล่านี้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้”

“เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่รับฟัง หรือไม่มีความเข้าใจ ในเรื่องเอกสารหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ไม่รู้ว่าเอกสารแต่ละประเภทคืออะไร ต้องดูอย่างไร จะขอดูเพียงพาสปอร์ตตัวจริงเท่านั้น เมื่อไม่มีพาสปอร์ตมาแสดง ก็ถูกจับเข้าไปนอนในคุก สุดท้ายต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมายืนยันให้จึงถูกปล่อยตัวออกมา ถือว่าเป็นการติดคุกฟรี ดังนั้นหากจะให้จัดเรตติ้งให้กระทรวงแรงงาน ขอให้เรตติ้งทำงานตกขอบและยังช้าอยู่ ข้อเสนอแนะของเราคือ ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงาน กระทรวงแรงงานกับตำรวจต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้สื่อสาร และประสานงานกันให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น”

ด้าน ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวว่า “นโยบายการขึ้นทะเบียนของกระทรวงแรงงานไม่ชัดเจน มีเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตนจึงพาคนงานไปยื่นหนังสือ ติดตามความคืบหน้าปัญหา การขึ้นทะเบียนและเรียกร้อง ให้กระทรวงแรงงานดูแลไม่ให้มีการเรียกรับเงิน แต่กลับถูกกระทรวงแรงงาน ไปแจ้งความกล่าวหาว่าตนเองให้ที่พัก ซ่อนเร้นคนต่างด้าวฯสุดท้าย ตำรวจอ้างว่าข้อหาดังกล่าว ไม่มีพยานหลักฐานจึงแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการที่ตนถูกภาครัฐฟ้อง ในหลังออกมาเรียกร้องในประเด็นสิทธิแรงงานนั้นมองว่าเป็นเพราะความไร้น้ำยา ในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นการรู้ไม่จริงแต่ทำเป็นเก่ง มันบ่งบอกว่าคุณพยายามมีมติ ครม.ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำให้จบได้ เนื่องจากกลไกไม่เป็นวัน สต็อป เซอร์วิส ไม่อำนวยความสะดวกในการให้แรงงานต่อเอกสาร หรือใบอนุญาตทำงาน จึงทำให้เป็นภาระของแรงงาน และสุดท้ายมันจึงเป็นช่องทาง ของการทำงานหากินของนายหน้า

ขณะที่ Thandar Myo อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กล่าวว่า “ในตอนช่วงสถานการณ์ตอนโควิดระบาด ตนเองได้ทำงานเป็น อสต.ของศุภนิมิต บางครั้งก็มีแรงงานข้ามชาติบางคนในชุมชนที่ลงไปทำงานไม่สบาย ก็มาขอความช่วยเหลือให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ คุยกับหมอกับพยาบาลไม่รู้เรื่อง เมื่อลงไปช่วยก็สังเกตุเห็นว่า ที่โรงพยาบาลไม่มีล่ามเลย จึงคิดว่าหากโรงพยาบาลมี อสต.มาช่วยในการสื่อสาร ก็จะลดอุปสรรคปัญหาไปได้เยอะ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่เหนื่อยมาก นอกจากนี้ตนยังยังมีข้อเสนอ ในเรื่องสถานะของ อสต.เองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ จึงอยากให้มีการอบรมที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานรัฐ และมีใบรับรองให้ เพื่อจะสามารถใช้อ้างอิงและสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่แรงงานข้ามชาติในชุมชนได้ และอยากให้มีการสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับ อสต. ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง ซึ่งทำงานเป็นทั้งล่ามและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ให้กับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงช่วยเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดในชุมชนแรงงานฯ อยากขอให้หน่วยงานรัฐของไทย ช่วยผลักดันให้เป็นจริงในอนาคตได้หรือไม่”

Related Posts

Send this to a friend