HUMANITY

ตัวแทนสื่อฯ พบ กสม. ยื่นตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุม ‘ม็อบ APEC’

ตัวแทนสื่อฯ พบ กสม. ยื่นตรวจสอบการทำงานตำรวจ เหตุสลายการชุมนุม ‘ม็อบ APEC’ เมื่อ 18 พ.ย. 65

วันนี้ (1 ธ.ค. 65) ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเข้าพบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุปะทะ ‘ม็อบ APEC’ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่ “ราษฎรหยุด APEC 2022” ได้พยายามเดินขบวนไปสถานที่จัดการประชุม APEC เพื่อยื่นหนังสือ ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ตามที่ปรากฏในรายงานข่าว โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย

  1. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำ ๆ เข้าที่ศีรษะ และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  2. ช่างภาพจากสำนักข่าว Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อย และแว่นสายตาเสียหาย
  3. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาทเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ
  4. ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพหน้าแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณ ตา ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจชัดเจน ซึ่งบาดแผลโดนบริเวณตาขาวยาว 6 มิลลิเมตร และห่างจากตาดำเพียงแค่ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ และการปฏิรูปสื่อ ระบุว่า ทั้ง 4 กรณีที่นำมานั้น มีหลักฐานชัดเจน และไม่มีบุคคลอื่นอยู่ในแนวเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ใช้ยุทธวิธีใด ถูกต้องตามหลักสากลหรือไม่ และจะมีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร ซึ่งตอนนี้กำลังติดต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยกระบวนการภายในองค์กร ส่วนการตรวจสอบจากภายนอก ก็มายื่นหนังสือให้ กสม. ช่วยตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ ส่วนการดำเนินคดีทราบมาว่าขณะนี้มีสื่อหนึ่งรายแล้วที่กำลังดำเนินการ และอยู่ในระหว่างการตัดสินใจอีกหนึ่งราย โดยเราเป็นแค่ตัวกลางที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหากมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คงจะมีแถลงข่าวต่อไป

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ทาง กสม. มีอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องเสรีภาพสื่อก็เป็นอีกเรื่องที่เราติดตาม ซึ่งจะพิจารณาตรวจสอบไปพร้อมกันทั้งการชุมนุม การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ซึ่งจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล มีข้อพิจารณาออกมาว่าในเรื่องที่เกิดขึ้นมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงแนวทาง กรือวิธีปฏิบัติในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเหตุการณ์ซ้ำอีก เพื่อเป็นบรรทัดฐานใหม่

Related Posts

Send this to a friend