HEALTH

ปลัด สธ. เดินหน้านโยบาย SECA ปี 2567 ติดตั้งโซลาร์เซลล์ครบ 1,855 แห่ง

วันนี้ (31 ส.ค. 66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศนโยบาย SECA ปี 2567 เดินหน้าติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ครบ 1,855 แห่ง ลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 20 และเริ่มใช้รถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงปรับปรุงอาคาร เป็นแบบอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 25 ของพื้นที่ว่าง ตลอดจนเน้นการแพทย์ทางไกล เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยนอก และเพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำเสียและขยะมูลฝอย พร้อมกันนี้เผยหน่วยงานในสังกัด ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว 508 แห่ง รวม 47,053 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟ 243 ล้านบาทต่อปี และยังลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26,775 tonCO2/ปี

นพ.โอภาส กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ นโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน โดยในปี 2566 กำหนดให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหน่วยงานบริหาร คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยบริการ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวม 1,855 แห่ง ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แล้วเสร็จ”

“ซึ่งประมาณการว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 904,353,667.20 บาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 99,458.49 tonCo2/ปี จนถึงขณะนี้มีหน่วยงานดำเนินการ เรื่องโซลาร์เซลล์แล้ว 1,261 แห่ง ครอบคลุม 75 จังหวัด ยังเหลืออีก 1 จังหวัด ในจำนวนนี้ติดตั้งสำเร็จแล้ว 508 แห่ง กำลังผลิตรวม 47,053 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 243,462,221.16 บาท/ปี และลดปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 26,775.35 tonCo2/ปี”

“สำหรับแผนการขับเคลื่อนในปี 2567 กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้”

1.การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ให้ครบทุกแห่งตามแผนงานที่กำหนด โดยโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,000 กิโลวัตต์ โรงพยาบาลทั่วไป 500 กิโลวัตต์ โรงพยาบาลชุมชน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 100 กิโลวัตต์ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 10 กิโลวัตต์ ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 124,093.80 tonCO2/ปี

2.ทุกหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 20

3.เริ่มมีการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าทดแทนของเดิม และสถานีชาร์จไฟฟ้า ด้วยเงินนอกงบประมาณ /เงินบำรุง /เงินบริจาค โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ทุกแห่งใน 10 ปี

4.อาคารอนุรักษ์พลังงาน โดยปรับปรุงอาคารเดิม ตามหลักเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย สำหรับอาคารระหว่างใช้งาน ส่วนการออกแบบอาคารใหม่ ให้จัดทำแบบหรือคัดเลือกแบบ ตามความต้องการใช้งาน โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินความยั่งยืน ทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย สำหรับก่อสร้างใหม่ ขณะที่ Master Plan โรงพยาบาล ให้ทบทวนปรับปรุงแบบ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในตัวอาคาร หรือภายนอกอาคาร

5.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 25 ของพื้นที่ว่าง ภายใต้แนวคิดการจัดสวนเพื่อการเยียวยา/บำบัดรักษา และการจัดสวนทั่วไป

6.เพิ่มศักยภาพการให้บริการ ลดการเดินทาง และเพิ่มขีดความสามารถบริการใกล้บ้าน โดยจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วย ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล ในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คุมอาการได้ รวมถึงปัญหาทางจิตเวช ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ลงร้อยละ 10 หรือ 1.6 ล้านครั้งต่อปี

7.การจัดการมูลฝอยและน้ำเสียด้วยหลัก 3R : Reduce Reuse Recycle โดยการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำน้ำ ที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ และลดปริมาณขยะมูลฝอยได้ร้อยละ 30

“กระทรวงสาธารณสุข จะรณรงค์ขับเคลื่อนนโยบาย SECA ไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจะตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานติดตามกำกับ และขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งส่วนกลาง และระดับพื้นที่ และคัดเลือกหน่วยงานที่ มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด ระดับเขตสุขภาพ และระดับประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี ให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้นำไปขยายผลต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend