HEALTH

สธ.เปิดตัวรถฟอกไตเคลื่อนที่ คันแรกของไทยและอาเซียน ให้บริการผู้ป่วยไตเชิงรุก ลดภาระการเดินทาง

วันนี้ (29 มิ.ย. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดรถฟอกไตเคลื่อนที่ คันแรกของประเทศไทย และประชาคมอาเซียน นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชน ของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยสามารถรองรับการฟอกไตสูงสุด 3 รอบต่อวัน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ใกล้บ้าน เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ นำไปใช้บริการต่อไป

นายอนุทิน กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย ขยายบริการฟอกไตฟรี ให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นให้บริการผู้ป่วยโรคไตแบบเชิงรุก มุ่งการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อ ลดแออัด ลดรอคอย สะดวกและใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โรคไตเรื้อรัง ในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ต้องล้างไตเพิ่มจำนวนมากขึ้น”

“รถฟอกไตเคลื่อนที่ ถือเป็นนวัตกรรมต้นแบบคันแรกของประเทศไทย และกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน ช่วยลดข้อจำกัดการให้บริการในชุมชน และเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐาน ซึ่งระยะต่อไปโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถนำไปใช้ในพื้นที่กันดาร ห่างไกล หรือพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้น”

ด้านนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ที่ต้องรับการรักษา ด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis : CAPD) 23,414 ราย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) 49,609 ราย มีคลินิกให้บริการฟอกไตด้วยวิธี Hemodialysis 1,151 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ส่งผลต่อคุณภาพและความต่อเนื่องในการรักษา รถฟอกไตเคลื่อนที่ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้มากขึ้น”

“ทั้งนี้ภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องฟอกไต 2 เครื่อง ให้บริการได้สูงสุด 3 รอบต่อวัน มีระบบน้ำและไฟฟ้า ระบบการกำจัดน้ำเสียจากการล้างไตผู้ป่วย ที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม 1 คน และผู้ช่วยพยาบาลอีก 1 คน ประจำรถให้บริการ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ติดตามอาการผู้ป่วยขณะฟอกเลือด ผ่านทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้บริการต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend