HEALTH

สธ. เตือนระวัง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภัยแฝงไม่ควรละเลย

แนะคนอายุ 40-60 ปี หมั่นออกกำลังกาย-ควบคุมความเครียด ลดการสัมผัสยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก หากสงสัยว่าป่วยรีบพบแพทย์

วันนี้ (28 มิ.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรค ALS ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทั้งนี้โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการ และประคับประคอง ทั้งนี้แนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากมีอาการที่คล้ายจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัย

นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคALS เป็นอีกหนึ่งอาการผิดปกติที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่หลายคนมักมองข้าม โรค ALS เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลัง ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อมีความผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง หายใจลำบาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยโรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการ และประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทรมานจากอาการเจ็บป่วย”

ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะมีอาการ 3 ระยะ ระยะเริ่มต้น จะรู้สึกว่า มือ เท้า แขนขาอ่อนหรือไม่มีแรง เช่น เดินแล้วล้มบ่อย ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น จากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น โดยมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาลีบ รับประทานอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ระยะที่สอง อาการจะหนักขึ้นจนลามไปถึงระบบหายใจ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง และระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้อาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่ง นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกายทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับและการติดของข้อ พักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงความร้อน ละความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มและไม่ต้องเคี้ยวมาก”

“ทั้งนี้คนในครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างมีความสุข สำหรับการป้องกัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุ ของการเกิดโรคที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ ควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หากมีอาการเจ็บป่วยควรรีบพบแพทย์ทันที หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ควบคุมความเครียด หลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลง หรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลส์เสื่อมสภาพและตาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป ทางสถาบันประสาทวิทยา เปิดให้บริการคลินิกเฉพาะโรคเอแอลเอส เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

Related Posts

Send this to a friend