HEALTH

โรคสมองเสื่อมป้องกันได้ ด้วย 4 กิจกรรมบำบัด เทคนิคส่งเสริมสุขภาพที่คนหลัก 4 ควรรู้!

รับมือโรคสมองเสื่อม ด้วย 4 กิจกรรมบำบัดสมอง เทคนิคชะลออาการเจ็บป่วย ที่ผสมผสานการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะคนช่วงวัย 40 ปี เนื่องจากสมองของคนวัยนี้จะเริ่มเสื่อมลงโดยธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูแต่เนิ่นๆ เพื่อรักษาความจำเอาไว้ให้นานที่สุด ประกอบกับในปัจจุบันพบว่า ประชากรทั่วโลก มีภาวะโรคสมองเสื่อมคิดเป็นร้อยละ 37-40 % ดังนั้นการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เกี่ยวกับเรื่องนี้

ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมบำบัดสังคม ให้ข้อมูลกับ The Reporters ว่า “หลักในการป้องกันโรคสมองเสื่อม ด้วยกิจกรรมบำบัดนั้น จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ มีภาวะโรคสมองเสื่อมเล็กน้อย เช่นในคนวัย 40 ปีที่สมองมักจะเสื่อมลงตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการชะลอ และป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ทางหนึ่ง ที่จำเป็นต้องทำควบคู่ กับการลดละเลิกพฤติเสี่ยงที่ทำร้ายสมอง ที่เป็นสาเหตุทำให้อวัยวะดังกล่าว ทำงานได้ลดน้อยลงก่อนเวลาอันควร ”

ทั้งนี้ภาวะสมองเสื่อมจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เริ่มจาก “สมองส่วนท้ายทอย มีหน้าที่สำคัญคือการรับภาพที่ส่งมาทางตา หรือเกี่ยวข้องกับการมองเห็น ดังนั้นกิจกรรมบำบัดที่เกี่ยวกับการมองเห็น จะช่วยปรับคลื่นสมอง ให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ที่เป็นในระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี และสามารถป้องกันตัวเองจากการหกล้ม และช่วยทำให้ก้าวเดินได้อย่างมั่นคงมากขึ้น เช่น การวาดรูป การเขียนตัวอักษร เช่น การลอกแบบตัวอักษรที่สวยงาม และเขียนลงในการ์ดอวยพร การถ่ายรูปวิวทิวทัศน์หรืออะไรก็ได้ โดยใช้กล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการเคาะจังหวะ เช่น การตีกลอง เป็นต้น

รองลงมาเป็น “สมองส่วนกกหู ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน ดังนั้นกิจกรรมบำบัด ต้องเกี่ยวข้องกับการฟังเสียง เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้สมองส่วนนี้ เช่น หูขวาที่อยู่ติดกับสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ แนะนำให้ฟังเสียงตัวเอง เช่น เสียงสวดมนต์ของตัวเองหรือ เสียงสวดฮัม และเสียงจากธรรมชาติ (ลมเสียดสีกอไผ่,เสียงนกร้อง,เสียงน้ำตก) เพราะเสียงเหล่านี้จะมีคลื่นความถี่ต่ำ หรือคลื่นอัลฟ่า ซึ่งจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ส่วนหูซ้ายนั้นนิยมฟังเสียง ที่มาจากบันทึกจากวีดีโอ หรือการฟังเสียงการบันทึกต่างๆ เช่น การฟังเสียงที่เราอัดเสียงพูด เกี่ยวกับเรื่องราวดีๆ ที่อยากทำในชีวิต 3-5 อย่าง เป็นต้น หรือฟังเสียงท่องกลอนที่เราชอบ และอัดเสียงไว้ฟัง หรือแม้แต่การฟังเสียงร้องเพลง ที่ไม่มีดนตรี

ต่อกันที่ “สมองส่วนกลางกระหม่อม” ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การรับรู้ความรู้สึก และรับรู้การสัมผัส ซึ่งสมองส่วนนี้ จะครอบคลุมทั้งบริเวณหูขวาและหูซ้าย ดังนั้นกิจกรรมบำบัด ที่ช่วยทำให้สมองส่วนนี้ผ่อนคลาย ควรเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เช่น การเต้นรำแบบไหนก็ได้ (ลีลาศ,เต้นซุมบ้า) หรือแม้แต่การรำวงแบบหมู่คณะ เพราะขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย สมองก็จะได้ออกกำลังกายหรือได้ขยับไปด้วย ซึ่งไม่เพียงทำให้เราเพลิดเพลิน แต่ยังทำให้ลดอาการเครียด หรือคลายความหงุดหงิดลงได้ หรือแม้แต่การที่เราเดินชมธรรมชาติ ก็จะทำให้สมองส่วนกลางกระหม่อมนั้น ดึงภาพเสียงและกลิ่นของธรรมชาติรอบตัวเรา ไปพร้อมๆ กับการสูดออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสูดกลิ่นที่บริสุทธิ์อีกด้วยเช่น ได้กลิ่นของดอกไม้ ใบไม้ น้ำในคลอง ซึ่งทำให้เราได้หายใจเข้าออก ได้อย่างสดชื่นนั่นเอง

ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ บอกอีกว่า “แม้แต่การทำอาหารที่เราชอบ และได้นั่งรับประทานกับเพื่อนๆ ก็จะทำให้สมองบริเวณกลางกระหม่อม ทำงานได้เป็นอย่างดี นั่นจึงช่วยลดเครียคลายความกังวลได้เป็นอย่างดี เช่นกัน” 

สุดท้ายคือ “สมองส่วนหน้า” ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงการคิด การวางแผนและตัดสินใจ รวมถึงการมีสติ ซึ่งกิจกรรมบำบัด เพื่อสร้างความผ่อนคลายนั้น จำเป็นต้องฝึกทุกวัน เนื่องจากหลายคนละเลย เช่น การทำสมาธิ ซึ่งจะประกอบด้วย 4 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนชอบทำสมาธิแบบไหน เช่น 1.การทำสมาธิในรูปแบบ ของการท่องบทสวดมนต์ เพื่อแผ่เมตตา 2.การทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ พร้อมคำแปลอย่างน้อย 1 บท 3.การทำสมาธิด้วยการเดินพร้อมกับท่องบทสวดมนต์ (คล้ายกับการเดินเวียนเทียน) โดยสามารถเลือกได้ 1 บท 4.การทำสมาธิด้วยการฝึกลมหายใจเข้าออก เพื่อให้มีสติรู้ว่ากำลังทำอะไร หรือการฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ เช่น ให้ท่องคำว่า “พุท” ตามด้วยการสูดหายใจเข้าลึกๆ และเมื่อหายใจออก กล่าวคำว่า “โธ” เมื่อมีสมาธิจะทำให้สมองของเราผ่อนคลาย และแก้ไขปัญหาได้ดี 

อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล แนะนำว่า “การดมกลิ่นอาหารจากการลงมือทำอาหาร หรือ การอุ่นอาหาร กระทั่งการดมกลิ่นดอกไม้ และสูดกลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือแม้ไปเที่ยวเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ก็สามารถสร้างความผ่อนคลาย ให้กับสมองส่วนหน้าเช่นกัน ที่สำคัญผู้สูงวัย ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น สามารถฝึกหายใจด้วยวิธี 4444 ที่ประกอบด้วย 1.ขณะที่เริ่มหายใจเข้าให้นับในใจ 4 วินาที 2.หายใจเข้าค้างไว้ 4 วินาที (นับในใจ 1-4) 3.หายใจออก 4 วินาที (นับในใจ 1-4) 4.เป่าลมออกจากจมูกยาวๆ อีก 4 วินาที (นับในใจ 1-4) ก็จะช่วยคลายความกังวลและทำให้ความทรงจำดีขึ้น หรือ จดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญหากฝึกแล้วยังไม่หายกังวลใจ แนะนำให้ออกไปเดินเล่น อย่านอนเล่นอยู่บนที่นอน หรือ ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน โดยการเปิดไฟสีส้ม จะช่วยให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น และทำให้สมองได้ผ่อนคลายเช่นกัน”

เลี่ยง 5 ปัจจัยเสี่ยงทำให้สมองเสื่อมเร็ว 

ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า “สำหรับใครที่ไม่อยากสมองเสื่อมเร็วนั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง 5 ข้อดังนี้ 1.การสูบบุหรี่ 2.การดื่มสุรา ซึ่งทำให้กินไขมันและโซเดียมตามมา นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ส่งกระทบต่อสมอง 3.คิดลบ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะชอบเก็บตัว เมื่อคิดลบก็จะทำให้เกิดความเครียดและนอนไม่หลับ หรือแม้แต่การทำนอนดึก ติดต่อกันนานหลายปี ก็ส่งผลทำให้สมองเสื่อมเร็วได้เช่นกัน 3.ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ทั้งนี้หากไม่ชอบเอ็กเซอร์ไซส์ ก็สามารถขยับร่างกาย ด้วยการเดินกวาดพื้น หรือ เดินถูบ้านได้เช่นเดียวกัน 4.ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความคิดเยอะ หรือ ต้องคำนวนตัวเลขมากเกินไป อีกทั้งนอนดึกเกินเวลาเที่ยงคืน ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ทำให้สมองเสื่อมเร็วได้เช่นกัน 5.พันธุกรรม เช่น การมีปู่ย่าตายายป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ลูกหลานก็สามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน”

ไขข้อข้องใจเหตุใด การป้องกันโรคสมองเสื่อม ในเด็กอายุ 8 ปี ได้ผลดี 100แต่ไม่ถูกพูดถึง 

ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า “แม้ว่าการป้องกันโรคสมองเสื่อม จะได้ผลดี 100% หากเริ่มในเด็กวัย 8 ปี แต่ทั้งนี้สิ่งที่ลืมไม่ได้นั้น การที่บ้านเราให้ความสำคัญ เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากกว่าเรื่องอื่น ประกอบกับเด็กวัยนี้มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องให้การเฝ้าระวังมากกว่า นั่นจึงทำให้เรื่องการป้องกันสุขภาพสมอง ไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ทั้งที่สมองนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการ ของร่างกายก็ว่าได้ รวมถึงการจำหน่ายบุหรี่ และสุราให้กับเด็กวัยก่อนวัยอันควรจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเมื่อโตเป็นวัยผู้ใหญ่ และถ้าพูดถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ ด้วยการป้องกันโรคดังกล่าว คนทั่วโลกก็ไม่ตระหนัก ถึงความสำคัญของเรื่องนี้เช่นกัน เพราะมองว่ามีโรคร้ายแรง อีกหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวัง” 

อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล อธิบายเสริมว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้การป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ผลดีในวัยเด็กวัย 8 ปีนั้น เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มใช้สมอง ในการคิดจริงจัง ที่เกิดจากการที่คุณครู พ่อแม่ กระตุ้นให้เด็กคิด ดังนั้นหากเด็กได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สมองก็จะดีเช่นกัน อาทิ ไม่อยู่ในบ้านที่พ่อแม่สูบบุหรี่ เด็กก็จะไม่ได้รับกลิ่นควัน หรือแม้แต่การไม่จำหน่ายสุรา และบุหรี่ให้เด็กวัยรุ่น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยป้องกัน ไม่ให้สมองเสื่อมเร็วได้เช่นกัน รวมถึงการที่พ่อแม่ป้องกันไม่ให้เด็กติดโซลเชียล หรือมือถือมากเกินไป โดยการหากิจกรรมที่ลูกๆชอบ นั่นไม่เพียงช่วยลดปัญหาสุขภาพด้านสายตา แต่ทว่ายังทำให้เด็กมีสังคม ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งการวิ่งเล่นกับเพื่อน ก็ทำให้สมองได้ขยับ จึงช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การป้องกันในเด็กวัยนี้ ได้ผลมากที่สุดนั่นเอง

เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข แต่อย่างไรคนวัยเลข 4 ที่หันมาเอ็กเซอร์ไซส์สมอง ด้วย 4 กิจกรรมบำบัด ก็คงไม่สายเกินไปสำหรับการป้องกัน และชะลอความทรงจำให้อยู่กับเราไปได้อีกนานๆ หากหมั่นฝึกฝน และทำสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน

Related Posts

Send this to a friend