HEALTH

เตือน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากมากกว่าคนทั่วไป

วันนี้ (24 ส.ค. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แนะการดูแลสุขภาพช่องปาก เป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ที่ควรใส่ใจสุขภาพช่องปากมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากปัญหาโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ มีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ โดยเฉพาะหากปล่อยให้ฟันผุ หรือหนองจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง และอาจเกิดการติดเชื้อ จากแบคทีเรียแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงหัวใจ หากละเลยเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า “สุขภาพช่องปาก เป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ และดูแลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากปัญหาโรคเหงือกและฟัน มีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หากพบว่าในช่องปากมีโรคเหงือก ฟันผุ หรือหนองจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง และอาจเกิดการติดเชื้อ จากแบคทีเรียแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงหัวใจ ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่หัวใจได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบการกลืนอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญ ไม่เพียงเพื่อป้องกันการเกิดโรคในช่องปาก แต่รวมถึงโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากปัญหาสุขภาพช่องปาก”

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า “สาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากต่างๆ มักเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น”

1.การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก และโรคปริทันต์อักเสบ
2.การรับประทานของหวาน ของว่างระหว่างมื้อบ่อยๆ อาจทำให้เกิดฟันผุ ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน
3.การเคี้ยวของแข็ง ส่งผลทำให้ฟันบิ่น หรือฟันแตก
4.การรับประทานยาหลายชนิด อาจทำให้เกิดภาวะปากแห้ง
5.การแปรงฟันแรง แปรงฟันไม่ถูกวิธี อาจทำให้ฟันสึก หรือฟันผุ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปากในอนาคต

“สำหรับข้อควรระวัง และการเตรียมตัวในการทำฟันของผู้ป่วยโรคหัวใจ ประกอบด้วยดังนี้”

1.ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว ขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่า สามารถทำฟันได้หรือไม่ รวมถึงข้อควรระวัง ชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และยาที่รับประทานอยู่
2.ต้องแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้ง เกี่ยวกับชนิดของโรคหัวใจ ยาที่รับประทาน รวมถึงปัญหาที่ผู้ป่วยเคยมีในการทำฟัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ
3.ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัว และทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดในการปรับ หรืองดยาละลายลิ่มเลือด การเจาะเลือดก่อนการทำฟัน การรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนทำฟัน และการปฏิบัติตนภายหลังการทำฟัน
4.ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาใดๆมาเอง หากไม่ได้รับคำแนะนำ จากแพทย์หรือทันตแพทย์

ส่วนวิธีการดูแลและป้องกัน การเกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก ที่ควรปฏิบัตินั้น ควรเริ่มจาก

1.แปรงฟันอย่างถูกวิธีด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน
2.ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเพื่อทำความสะอาด บริเวณด้านประชิดของฟัน
3.ควรพบทันตแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำทุก 6 เดือน หากปรับพฤติกรรมที่ไม่ดี ร่วมกับการดูแลฟันอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ก็สามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปาก ในระยะยาวลงได้

Related Posts

Send this to a friend