HEALTH

เทคนิคกินของไหว้ตรุษจีนอย่างไรให้ไม่ทำร้ายสุขภาพ

นักวิชาการโภชนาการพิเศษ เผย กินของไหว้ตรุษจีนให้สุขภาพดี แบ่งกินมื้อถัด-ปรุงให้น้อย เทคนิคกินอาหารไขมันสูงน้อยลง ยืดอายุอาหารไหว้เจ้าที่เก็บได้ไม่เสียคุณค่า

นอกจากไหว้เจ้าแล้วอาหารวันตรุษจีน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนพูดถึงกันเยอะ เกี่ยวกับการบริโภคอาหารในวันปีใหม่จีนให้มีสุขภาพดี เนื่องจากอาหารมงคลเหล่านี้ ล้วนอุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล หรือแม้แต่เครื่องปรุงรสจำนวนมาก ซึ่งอาจกระตุ้นการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคไขมันในเส้นเลือด กระทั่งโรคไตได้ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อยู่แล้ว จำเป็นต้องระวังในการบริโภคให้มากขึ้น ทั้งนี้คำแนะนำก็มีตั้งแต่ การทำอาหารไหว้เจ้าด้วยตัวเอง เพื่อลดปริมาณการปรุงรสอาหารลง เพื่อป้องกันการได้รับไขมัน น้ำตาล และความเค็มจากเครื่องปรุงรสมากเกินไป หรือใส่ผักลงเมนูอาหารให้มากขึ้น เพื่อลดความมันเลี่ยน และเพิ่มวิตามินเกลือแร่ให้กับร่างกาย แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการปรุงอาหาร ที่เหลือในตรุษจีนในวันถัดไปอย่างไรให้ เพื่อมีสุขภาพดี เนื่องจากบางบ้านจัดชุดไหว้เจ้าชุดใหญ่ ทำให้อาหารเหลือค้างในตู้เย็นเป็นจำนวนมาก

The Reporters ได้พูดคุยกับ “เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์” นักวิชาการโภชนาการพิเศษ และนักกำหนดอาหารวิชาชีพ สาขาวิชาสักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริโภคอาหารวันตรุษจีน แบบสุขภาพดีไว้น่าสนใจ รวมถึงการปรุงอาหารไหว้เจ้ารับประทานในวันถัดไป โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เอื้อชัชญา ให้ข้อมูลว่า “ หลักในการกินอาหารวันตรุษจีนให้เฮลธ์ตี้นั้น หลักๆคือการบริโภคให้น้อยลงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นเราจะมาเจาะกันว่าแต่ละเมนูนั้น ควรบริโภคอย่างไรจึงจะพอดีกับร่างกายของเรา เริ่มจาก “ผัดหมี่ซั่ว” แนะนำว่าผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้ระวังการบริโภคเมนูมงคลนี้ เพราะหมี่ซั่วจะมีความเค็มหรือโซเดียมสูงมาก ซึ่งคนรักสุขภาพอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมาบริโภคผัดหมี่ซั่วสีขาวแทน หรือผัดเส้นหมี่สีขาวแทน (ในคนที่ไม่เคร่งครัดวันตรุษจีนมากนัก) และกินให้น้อยลง

ส่วนในกลุ่มของหมูเห็ดเป็ดไก่นึ่งหรือต้ม เช่น “หมูสามชั้นต้ม” ที่เหลือจากการไหว้เจ้านั้น หลายๆบ้านเช่นบ้านของตัวเอง จะนำมาทำหมูกรอบต่อ โดยจะเลือกใช้หม้ออบลมร้อน ในการทอดหมูกรอบ ที่จะช่วยรีดน้ำมันจากหมูกรอบ ออกไปได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการทำงานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากนั้นก็แบ่งกันรับประทานคนละเล็กน้อย เพื่อป้องกันการได้รับไขมันจากหมูกรอบมากเกินไป

ส่วน “ไก่ต้ม” จะนิยมนำมาปรุงเป็นไก่รวนเค็ม จะใส่ซีอิ้วและผงปรุงรสให้น้อยลง และใช้เวลาปรุงสักพักเพื่อให้เนื้อไก่แห้งลง นอกจากนี้ในผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในไก่รวนเค็ม เพราะจะไปกระตุ้นอาการปวดตามข้อต่างๆได้

ในส่วนของ “ผัดผักน้ำมันหอยใส่เนื้อสัตว์ต่างๆ” ที่มีจะลักษณะมันเยิ้มนั้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้รับประทานแต่น้อย หรือไม่ควรนำน้ำผัดผักดังกล่าวมาราดข้าว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไต เพราะในเครื่องปรุงในผัดผักน้ำมันหอย จะมีโซเดียมหรือความเค็มสูง หรือแม้แต่ “ปลาจาระเม็ดนึ่งซีอิ้ว” ก็สามารถรับประทานได้เพราะเนื้อปลาย่อยง่าย แต่อาจต้องใส่ซีอิ้วปรุงรส ในปริมาณที่น้อยลง เพิ่มผักเป็นเครื่องเคียงให้มากยิ่งขึ้น นอกจาก “เป็ดต้ม” หลายบ้านมักจะนำมาปรุงเป็นเมนูเป็ดพะโล้

นอกจากการใส่น้ำตาล ในเป็ดพะโล้ให้น้อยลงแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีตู้เย็น ที่สามารถเก็บเป็ดไหว้เจ้าไว้รับประทานในมื้ออื่นๆได้ ดังนั้นการเก็บไว้ในช่องแข็ง และค่อยๆนำออกมาปรุงอาหาร หลังจากเทศกาลตรุษจีน ก็จะช่วยป้องกันการได้รับไขมัน จากการบริโภคอาหารไขมันสูงหลายชนิดในช่วงไหวเจ้าได้ และยังเป็นยืดอายุของอาหารได้เช่นเดียวกัน เนื่องเป็ดต้มหรือเป็ดนึ่งได้ปรุงสุกไว้อยู่แล้ว ขาดไม่ได้สำหรับอาหารมงคล ที่สื่อถึงความร่ำรวยจากเมนู “ปอเปี๊ยะทอด” ที่มีสีเหลืองทอง ทั้งนี้หากบริโภคไม่หมดภายในวันเดียว สามารถนำมาใส่ตู้เย็น และทอดในหม้ออบลมร้อนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยรีดน้ำมันปอเปี๊ยะทอดได้ ก็จะช่วยดูแลสุขภาพ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคไขมันในเส้นเลือดได้ทางหนึ่ง

ขนมหวานวันไหว้เจ้ากินได้แต่ไม่เยอะ

สำหรับหมวดของหวานเทศกาลตรุษจีน ในกลุ่มของขนมแห้ง อย่าง “ขนมเข่ง” ที่หากต้องการนำไปทอด เพื่อรับประทานวันรุ่งขึ้น ก็ให้กินแต่น้อยเพราะอุดมไปด้วยแป้งและไขมัน และถ้าหากมีจำนวนมากให้แจกจ่ายเพื่อนบ้าน นอกจากนี้หากบ้านไหน มีผู้สูงอายุรับประทานขนมเข่ง ก็ควรระวังขนมติดคอผู้สูงอายุด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วน “ขนมปุยฝ้าย” นั้น การบริโภคที่พอดี จะใช้หลักการที่ว่า ให้วางขนมปุยฝ้ายลงบนกลางฝ่ามือของเรา โดยที่ขนมจะต้องไม่เกินโคนนิ้วมือทั้ง 5 ของเรา ซึ่งจะถือเป็นการบริโภคขนมแห้งที่อยู่ในปริมาณที่พอดี รวมถึงขนมเข่งและขนมเทียนก็เช่นเดียวกัน เพราะการบริโภคอาหารที่ดี ต้องกินให้หลากหลายอย่าง ไม่กินอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เพราะเสี่ยงโรคไขมันและโรคเบาหวานได้ ส่วนขนมน้ำ เช่น “ขนมบัวลอยน้ำขิง” ก็ให้รับประทานเพียง 1 ถ้วยเล็กต่อวันเท่านั่น เพราะในขนมหวานดังกล่าว จะมีทั้งน้ำตาลและไขมันจากน้ำกระทิ จึงควรบริโภคให้น้อย หรือแม้แต่บางบ้านที่ไหว้เจ้าตัว “เงาะเชื่อม” ที่มีน้ำตาลสูง ก็ให้รับประทานเพียงวันละ 1 ถ้วยเช่นเดียวกัน หรือเก็บใส่ตู้เย็นไว้รับประทานในมื้อต่อไป หากว่าวันตรุษจีน ได้รับประทานขนมบัวลอยน้ำขิงไปแล้ว เพราะเมนูเงาะเชื่อม สามารถเก็บได้เป็นเวลานาน

กินผลไม้วันตรุษจีนให้ได้ประโยชน์ แบ่งกินมื้อถัดไป ช่วยเพิ่มกากใยอาหารระบบย่อยทำงานดี

ขาดไม่ได้สำหรับผลไม้ไหว้เจ้า ที่สื่อความมีเงินทองหรือโชคลาภ อย่าง “ส้มเขียวหวาน” และ “สาลี่” สีเหลืองทอง ทั้งนี้หากบ้านไหนมีอาหารจำนวนมาก หรือบริโภคขนมหวานในวันตรุษจีนแล้ว แนะนำว่าให้นำผลไม้ดังกล่าวแช่ไว้ในตู้เย็น เพื่อรับประทานในวันถัดไป เพราะผลไม้จะเน่าเสียได้ยาก ทั้งนี้หลักการรับประทานผลไม้ ก็ต้องไม่มากไม่น้อยเกินไป เช่น การกินส้มต่อครั้งไม่ควรเกิน 1 ลูกเล็ก เพื่อที่เราจะได้รับประทานอาหารอื่นๆให้หลากหลายได้ โดยทั่วไปแล้วหากเป็นส้มลูกเล็ก ก็สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1 ลูก หรือถ้าหากวันตรุษจีน เรากินส้มเขียวหวานแล้ว แนะนำให้บริโภคสาลี่ในวันถัดไป เพื่อที่ว่าจะได้มีผลไม้อื่นๆ ไว้รับประทานในวันรุ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าช่วยทำให้ระบบขับถ่ายในวันพรุ่งนี้ ทำงานได้ดีเช่นเดียวกัน จากการบริโภคผลไม้สลับชนิดกัน

Related Posts

Send this to a friend