กรมอุทยานฯ คุมเข้มด่านตรวจสัตว์ป่า ป้องกันแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (CITES) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยผลการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงานกรณีโรคฝีดาษลิง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมและตรวจสอบการส่งออก – นำเข้า หรือนำส่งต่อเพื่อการค้า ซึ่งชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ระบุไว้ในบัญชี หมายเลข 1 หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้หาแนวทางการป้องกันโรคฝีดาษลิงที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เบื้องต้นกรมอุทยานฯมีแผนสำรวจ เฝ้าระวังเชิงรุกและย้อนกลับไป ซึ่งที่ผ่านมา ได้สำรวจและเฝ้าระวังลิงในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดการระบาดในหลายประเทศทำให้จะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมตรวจสอบประวัติลิงในพื้นที่เสี่ยงว่าลิงเหล่านี้มีสุขภาพเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญเป็นความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสัตว์ป่า เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากสารคัดหลั่ง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานในด่านตรวจสัตว์ป่าต้องเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยการปฏิบัติงาน ด้วยการสวมถุงมือทำงาน อาจสวมรองเท้าบูท การดูแล สุขภาวะ สุขอนามัยในพื้นที่ให้มีความสะอาดอยู่เสมอ
สำหรับประชาชนที่มีความกังวลใจโรคต่อดังกล่าว ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ อย่างสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด พร้อมให้สังเกตอาการหากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขาให้รีบพบแพทย์ทันที
นายประเสริฐ กล่าวย้ำว่า ภาพรวมยังได้พิจารณาแนวทางให้เข้มงวดการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่นำเข้ามาในประเทศ และเตรียมเสนอกรมปศุสัตว์ให้พิจารณาเพิ่มการตรวจโรคฝีดาษลิง สำหรับสัตว์ป่าที่จะนำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ส่วนด่านตรวจสัตว์ป่าได้ประสานผู้ประกอบการให้ชะลอการนำเข้า เพื่อรอมาตรการเพิ่มเติม และสำหรับสัตว์ป่าที่นำเข้าจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะประสานขอข้อมูลเพื่อติดต่อผู้ประกอบการสำรวจข้อมูลการเฝ้าระวังในสัตว์ป่าที่นำเข้ามาแล้ว พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสสัตว์ป่านำเข้าจากต่างประเทศมีความเข้มงวดการป้องกันการติดเชื้อโรคสัตว์สู่คน ให้เข้มงวดการใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและมาตรการให้เหมาะสม