HEALTH

สวรส.จับมือ สวค.และ IHPP ร่วมวิจัย การบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทาง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ของระบบบริการทันตกรรมในระดับเขตสุขภาพ สู่บริการที่เท่าเทียม

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ ทีมวิจัยจากสำนักงานวิจัย และพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบาย สุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมในระดับเขตสุขภาพ” เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการ และการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทาง ในระดับเขตสุขภาพ

รวมทั้งเพื่อศึกษาสถานการณ์ ของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทาง และประเมินการนำนโยบายการพัฒนาระบบบริการทันตกรรม เฉพาะทางไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อตั้งรับกับปัญหาการใช้บริการด้านทันตกรรมที่จะเกิดขึ้น การพัฒนากำลังคนด้านทันตแพทย์เฉพาะทาง ทั้งในด้านการเพิ่มและการกระจายบุคลากรอย่างทั่วถึง จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบ และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางได้มากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า “ปัญหาการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลต่อระบบบริการสุขภาพของไทย มายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งงานวิจัยที่เป็นข้อเสนอเพื่อการบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทางดังกล่าว มีข้อมูลเชิงประจักษ์หลายประเด็น ที่สามารถนำมาพิจารณาในระดับนโยบาย เพื่อการพัฒนาระบบบริการด้านทันตกรรม อาทิ ควรมีการกำกับติดตามการพัฒนาระบบทันตกรรมเฉพาะทาง ตามเป้าหมายของพื้นที่ แทนการกำกับติดตามที่จำนวนและประเภทของทันตแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาสุขภาพช่องปากของกระทรวงสาธารณสุข ควรทบทวนหลักเกณฑ์ระบบโควตา ศึกษาต่อของทันตแพทย์”

“โดยกำหนดสาขาของทันตแพทย์เฉพาะทาง เป็นแบบสาขาหลักและสาขารอง โดยสาขาหลักคือสาขาที่โรงพยาบาลต้องการ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบบริการของพื้นที่ เช่น รองรับการดูแลผู้สูงอายุ สาขารองคือมีการระบุระดับโรงพยาบาลที่ชัดเจน เช่น สาขาจัดฟัน ต้องทำงานในโรงพยาบาลที่มีเครื่องเอ็กซเรย์ชนิด panoramic สาขาศัลยศาสตร์ช่องปาก และแม็กซิลโลเฟเชียล ต้องทำงานในโรงพยาบาล ที่มีห้องผ่าตัดและทีมผ่าตัด ทั้งนี้ในกลุ่มสาขาหลัก อาจมีการเพิ่มโควตาให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพื่อการกระจายการจัดบริการอย่างเท่าเทียม ลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการ และป้องกันภาวะคอขวดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่”

“นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมกับทันตแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศบุคลากรด้านทันตกรรม เพื่อให้มีข้อมูลทั้งทันตแพทย์ทั่วไป ทันตแพทย์เฉพาะทาง ทันตาภิบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเข้าถึงง่าย เพื่อใช้ประกอบการวางแผนและตัดสินใจ เชิงนโยบายได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์ จากงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดดังกล่าว นับเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณา ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเชิงระบบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสนับสนุนงานวิจัยของ สวรส.”

ตลอดจนเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการบริหารจัดการการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทางในระดับเขตสุขภาพ ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์พบข้อมูลว่า นโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรกำลังคนโดยพิจารณา ระดับความเชี่ยวชาญของแพทย์แปรตามระดับศักยภาพ ของสถานพยาบาล เช่น แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะถูกให้ไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาล ที่มีศักยภาพการให้บริการในระดับสูง แต่ในส่วนของทันตแพทย์ มีเพียงการกำหนดจำนวนความต้องการ ตามประเภทวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังไม่มีการระบุถึงระดับความเชี่ยวชาญ ที่สอดคล้องกับระดับของหน่วยบริการ แม้หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะมีการทำแผนพัฒนาระบบบริการสาขาสุขภาพช่องปาก แต่มีการกำหนดเพียงแค่ขอบเขตงานบริการทันตกรรม ที่ควรจัดให้มีในหน่วยบริการระดับต่างๆ เท่านั้น

นอกจากนั้นการพัฒนาระบบโควตา ศึกษาต่อของทันตแพทย์ ก็ยังไม่มีข้อมูลขอบเขตสมรรถนะของแต่ละระดับหลักสูตรเพื่อการพิจารณา เรื่องการศึกษาต่อของทันตแพทย์ จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับระบบบริการ อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงการวัดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ที่คาดหวังได้ตามความสามารถของบุคลากร มากไปกว่านั้นนโยบายที่ผ่านมามุ่งพัฒนา เพื่อเพิ่มจำนวนทันตแพทย์ตามเกณฑ์เป้าหมาย แต่ไม่มีตัวชี้วัดที่ใช้ติดตามการพัฒนางาน และยังขาดการมองเป้าหมาย การพัฒนาอีกหลายมิติ เช่น ความปลอดภัย ความทันเวลา ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ

ซึ่งระบบโควตาศึกษาต่อ ของทันตแพทย์ดังกล่าวพบว่า สามารถเพิ่มจำนวนทันตแพทย์เฉพาะทางระดับวุฒิบัตรในภาพรวมได้ แต่ไม่สามารถกระจายตัว ได้อย่างเหมาะสม และเท่าเทียมกันระหว่างเขตสุขภาพ เนื่องจากทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักย้าย ไปอยู่ในเขตสุขภาพ ที่เป็นพื้นที่เมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท ส่งผลให้การจัดสรรทันตแพทย์ไปศึกษาต่อ ในพื้นที่ชนบทยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร

ทั้งนี้ในด้านของทันตแพทย์ ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ตามโควตาที่ถูกจัดลงไปในพื้นที่ รวมถึงทางโรงพยาบาลต้นสังกัด ก็ไม่มีปัญหาในการจัดเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการทำงาน แต่ควรมีการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา ของทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยทันตแพทย์ทั่วไป ในการตัดสินใจและวางแผนการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างระบบบริการพื้นฐาน และระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทาง

ทั้งนี้งานวิจัยมีข้อเสนอต่อรูปแบบการบริหารจัดการ และการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทาง ดังนี้

1.ควรปรับวิธีการจัดสรรโควตาในพื้นที่ ให้เป็นลักษณะของการจัดสรร ทันตแพทย์คู่สัญญา เพื่อให้มีการปฏิบัติงานในรูปแบบของการชดใช้ทุน ซึ่งจะเป็นวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุข จะสามารถจัดลำดับพื้นที่ตามความจำเป็น และสามารถบริหารจัดการให้มี ทันตแพทย์เฉพาะทางปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

2.ควรมีการกำหนดภาระงานสำหรับทันตแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจน และสื่อสารภาระงานที่ชัดเจนดังกล่าว ให้ทันตแพทย์ทุกคนเข้าใจ ทั้งทันตแพทย์ทั่วไปและทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยกระจายภาระ งานบริการทันตกรรมพื้นฐานให้ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึง บริการทันตกรรมพื้นฐาน ที่มีคุณภาพได้มากขึ้น และเข้าถึงบริการทันตกรรม เฉพาะทางได้สะดวกยิ่งขึ้น

3.ไม่ควรจำกัดจำนวนทันตแพทย์เฉพาะทาง ด้วยสัดส่วนตามกรอบอัตรากำลัง แต่ควรกำกับผลงานการพัฒนาระบบบริการ ของจังหวัดและเขตแทน เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัด และเขตสามารถออกแบบการพัฒนาทันตแพทย์ เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาระบบบริการ ที่สอดคล้องตามการปฏิรูปเขตสุขภาพ โดยมีการกำกับติดตามข้อมูลสถิติ การส่งต่อและเหตุผลของการส่งต่อ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา ระบบบริการในแต่ละพื้นที่ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend