HEALTH

ปลัด สธ.แจงจังหวัดไหนเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดไม่พอให้ขอเพิ่ม

ปลัด สธ.แจง เงินค่าเสี่ยงภัยโควิดมี 2 ส่วน งบเงินกู้ – งบกลาง จังหวัดไหนงบฯ ไม่พอให้ทำเรื่องขอเพิ่ม

วันนี้ (21 พ.ย. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด-19 ว่า ในมุมนโยบายค่าเสี่ยงภัยที่รัฐบาลออกนโยบายให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 กระทรวงพยายามติดตามให้ได้งบประมาณทั้งหมด แต่งบประมาณดังกล่าว ผู้อนุมัติหรือผู้ที่จัดสรร คือสำนักงบประมาณ ซึ่งมีการแบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ทั้งงบประมาณเงินกู้ และงบกลาง

อย่างไรก็ตาม ทั้งงบฯ เงินกู้ และงบกลาง วิธีการใช้ก็แตกต่างกัน โดยในส่วนของงบฯ เงินกู้ จะต้องผ่านสภาพัฒน์ ต้องการข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด และด้วยเงินค่าเสี่ยงภัยมาจากหลายก้อน ในส่วนของบุคลากรสายวิชาชีพ จะเอางบฯ เงินกู้ไปจ่าย ซึ่งต้องมีหลักฐาน ขั้นตอนรายละเอียดมาก จึงมีการแยกงบฯ อีกส่วนให้เป็นของสายสนับสนุน โดยงบฯ ทั้งสองก้อนคนละส่วน จะนำมาเกลี่ยกันไม่ได้

“ง่ายที่สุด คือ ต้องมีงบฯ ก้อนเดียวส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุขจัดการ จะง่ายขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกติกามาจากงบฯ หลายก้อน เราก็ต้อง Balance 2 อย่างให้ดี ถ้าเงินมาที่เราก้อนเดียวเลย มันก็จัดการง่าย จัดการทุกจังหวัดไปพร้อมๆ กันได้ จะพยายามทวงถาม และจัดสรรให้ครบถ้วนตามนั้น แต่สิ่งสำคัญ ก็ต้องฝากกลับไปว่า ให้ดูหลักฐานให้ครบ เพราะงบฯ เงินกู้นั้นค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า งบฯ เหล่านี้สำนักงบประมาณจัดสรรมา กระทรวงต้องทำตามหลักเกณฑ์ ตามระเบียบที่วางไว้ ส่วนจังหวัดหรือพื้นที่ไหนติดขัดอะไร หรืองบฯ ไม่พอ เพราะเหตุใด ให้ทำเรื่องขอเพิ่มมาที่ส่วนกลางได้ แต่ต้องมีหลักฐานครบถ้วน ซึ่งเรื่องนี้ ได้มอบหมาย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแล

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงงบประมาณที่ได้มาปี 2565 ว่า ได้รับมาประมาณ 870 กว่าล้านบาท ถือว่าค่อนข้างน้อย จึงให้นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) ลดสัดส่วนตามจำนวนเงิน แต่ก็ได้แจ้ง สสจ.แล้วว่า หากงบประมาณไม่เพียงพอ ก็ขอให้ทำรวบรวมคำขอเพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะได้ทำเรื่องขอเพิ่มเติม ตอนนี้กำลังให้ติดตามอยู่ว่า ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ใช้ไปเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ในช่วงหลังงบฯ น้อยลง และต้องใช้ตามระเบียบของแหล่งเงินที่รับมา

“หลักการจ่ายค่าเสี่ยงภัยของแต่ละกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการทำงาน หรือผลงานออกมาแล้ว และทำคำขอขึ้นมา ใครเข้าเวรต่างๆ จำนวนเงินก็จะเป็นตัวหลัก แต่ระยะเวลาทั้งหลายยังต้องขอเวลาดูข้อมูล ซึ่งปลัดสธ.ให้โจทย์มาแล้วก็จะเร่งรีบประชุมดำเนินการกันต่อ จริงๆ ที่ผ่านมาทำกันมาดีๆ รัฐบาลมีการดูแลเจ้าหน้าที่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังขาดอยู่เท่าไหร่ก็ต้องดูภาพใหญ่กันอีกที” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend