HEALTH

‘แพทย์ถกวิกฤตโรคอ้วน’ ชี้คนไทยเกือบครึ่งน้ำหนักเกิน-อ้วน แนะรักษาองค์รวม-ตั้งคลินิกเฉพาะทางรับมือ

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค (DDC) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร จัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม ภายใต้หลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน’ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคอ้วนที่ทวีความรุนแรง โดยข้อมูลล่าสุดปี 2566 จาก สธ. พบคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึงร้อยละ 48.35 สอดคล้องกับข้อมูลทั่วโลกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าผู้ใหญ่กว่า 1.9 พันล้านคนมีภาวะดังกล่าว

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวในงานว่า นโยบายสาธารณสุขมุ่งลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) และควบคุมเบาหวานแต่เนิ่นๆ โดยมีข้อมูลสนับสนุนว่าการลดน้ำหนักเพียงร้อยละ 15 ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าสู่ภาวะสงบได้ การป้องกันและรักษาโรคอ้วนจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงมะเร็ง เนื่องจากผู้มีภาวะอ้วนมีความเสี่ยงสูงกว่าคนน้ำหนักปกติ

ด้าน รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคอ้วนเป็นภาวะเรื้อรังซับซ้อนจากหลายปัจจัย ทั้งโภชนาการ พันธุกรรม และจิตใจ จึงต้องติดตามต่อเนื่องและปรับแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคล โดยมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ การปรับพฤติกรรมและโภชนาการ ซึ่งอาจลดน้ำหนักได้ร้อยละ 5-10, การใช้ยา เหมาะสำหรับผู้มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 27 กก./ตร.ม. ร่วมกับมีโรคร่วม หรือ BMI ตั้งแต่ 30 กก./ตร.ม. ขึ้นไป โดยเฉพาะยากลุ่ม GLP-1 receptor agonists ที่ช่วยลดน้ำหนักได้ถึงร้อยละ 10-20 และใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี และการผ่าตัดกระเพาะอาหาร สำหรับผู้มี BMI ตั้งแต่ 35 กก./ตร.ม. ร่วมกับมีโรคร่วม หรือ BMI ตั้งแต่ 40 กก./ตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งอาจลดน้ำหนักได้ร้อยละ 20-40

ขณะที่ นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำถึงความเชื่อมโยงว่า โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหัวใจวาย อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือลิ้นหัวใจผิดปกติ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวานและมะเร็ง การลดน้ำหนักตัวลงร้อยละ 15 สามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผศ.พญ.อรภา สุธีโรจน์ตระกูล กุมารแพทย์อนุสาขาโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ในเด็กและวัยรุ่นว่าน่าเป็นห่วง โดยไทยมีความชุกของโรคอ้วนในเด็กสูงถึงร้อยละ 10-15 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การแก้ไขต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติและพฤติกรรมในครอบครัวแต่เนิ่นๆ

ในมุมมองด้านจิตใจ รศ.ดร.นพ.วรุตม์ อุ่นจิตสกุล สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่า มิติทางจิตใจและสังคมมีความสำคัญในการประเมินและรักษาก่อนการผ่าตัด หรือในผู้มีค่า BMI สูง การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (CBT) จะช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักและปรับเปลี่ยนความคิด (เช่น ‘กินแก้เครียด’) และพฤติกรรม (เช่น ‘ชอบน้ำหวาน’) ที่นำไปสู่โรคอ้วนได้

ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เสนอว่า การจัดตั้ง ‘คลินิกโรคอ้วน’ ที่ใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพ (MDT) เป็นอีกก้าวสำคัญในการลดปัญหาโรคอ้วนและ NCDs เนื่องจากโรคอ้วนมีความซับซ้อนและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายระบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น ศัลยแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และพยาบาล เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกับผู้ป่วยและดูแลอย่างครอบคลุม ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การสัมมนาครั้งนี้สะท้อนความจำเป็นในการบูรณาการการรักษาโรคอ้วนอย่างรอบด้าน ทั้งการปรับพฤติกรรม โภชนาการ การใช้ยา การผ่าตัด และการดูแลด้านจิตใจ รวมถึงการส่งเสริมคลินิกโรคอ้วนเฉพาะทาง เพื่อรับมือกับวิกฤตสุขภาพและลดภาระโรคเรื้อรังในระยะยาว

Related Posts

Send this to a friend