HEALTH

บอร์ดสุขภาพจิตฯ ถกแผนรับมือคนไทยเครียดสะสม

หลังพบสัญญาณการฆ่าตัวตายมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 64 จากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ มีมติให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย หลังมีภาวะความเครียดสะสมช่วงจากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร และพบสัญญาณตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายมากขึ้นโดยให้บรรจุในแผนงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ใช้กลไกชุมชนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าไปดูแล เยี่ยม ติดตาม ประเมินสภาพจิตใจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

พญ.อัมพร ระบุว่า การดูแลประชาชนช่วงโควิด ไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพอย่างเดียว ยังมีเรื่องทางสังคมด้วย จึงได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้งบกองทุนในสังกัดมาช่วยเยียวยา เช่น กองทุนคนพิการ เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านสังคมเพิ่มเติม

จากการประเมินผลผ่าน www.วัดใจ.com หรือ ระบบ Mental Health Check In เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 2,579,026 ราย กรมสุขภาพจิตพบว่า มีคนไทยเครียดสูงขึ้น 216,098 ราย คิดเป็น 8.38% , มีความเสี่ยงซึมเศร้า 254,243 ราย คิดเป็น 9.86% , เสี่ยงฆ่าตัวตาย 140,939 ราย คิดเป็น 5.46% และมีภาวะหมดไฟ 25,552 ราย คิดเป็น 4.16%

พญ.อัมพร เพิ่มเติมว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดขึ้นเยอะๆ ในทันที แต่จะลากยาวไปประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่การระบาดของโควิด19 เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นยาวนาน จึงเริ่มมีสัญญาณว่าน่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และกลุ่มเสี่ยงยังมีอายุน้อยลง อย่างวัยรุ่นและเยาวชน จึงต้องให้ความสนใจกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น โดยพบว่า เรื่องโซเชียลมีเดียมีผลอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงป้องปรามและผลักไสให้คนมีความเสี่ยง แต่ก็เป็นพื้นที่ที่สามารถไปดักและค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงได้ง่ายเช่นกัน กรมสุขภาพจิตจึงมองหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือ การทำงานระดับจังหวัด เพื่อให้มีการแทรกซึมไปในระดับชุมชน ทั้ง อสม. อพม. รวมถึงกลไกท้องถิ่น โดยสอดส่องปัญหา ทั้งการวัดใจ ประเมินสุขภาพจิตใจตนเอง รวมถึงคนเจ็บป่วย หรือกลุ่มเปราะบาง เพื่อติดตามอาการเป็นพิเศษ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายสอดส่องดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังการทำร้ายตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ มีกลไกดักจับทั้งคำพูด หรือการโพสต์ภาพ แคปชันที่เข้าข่ายว่าเสี่ยงอาจทำร้ายตัวเองได้ เมื่อพบเห็นจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจไปช่วยเหลือ

Related Posts

Send this to a friend