HEALTH

กรมการแพทย์ แนะ ‘มะเร็งปอด’ พบบ่อยในคนไทย ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

กรมการแพทย์ เชิญชวนทั้งชายและหญิง ตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็งปอด แนะ ‘มะเร็งปอด’ พบบ่อยในคนไทย ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และหมั่นตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำทุกปี 

วันนี้ (11 พ.ย. 65) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยเกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น 

ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนทั้งชายและหญิงให้ความตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็งปอด เน้นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ  

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น ก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึง อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอกอ่อนเพลีย เป็นต้น 

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลักๆ ได้แก่การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปอด ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดนั้น คือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดแต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

Related Posts

Send this to a friend